กฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
พระราชบัญญัติ
สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๔๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘
(๒) พระราชบัญญัติครู (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕
(๓) พระราชบัญญัติครู (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๙
(๔) พระราชบัญญัติครู (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๙
(๕) พระราชบัญญัติครู (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑
(๖) พระราชบัญญัติครู (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๓
บรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ คำสั่งอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“กระทรวง” หมายความว่า กระทรวงศึกษาธิการ
“วิชาชีพ” หมายความว่า วิชาชีพทางการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการรับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน และการบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่างๆ
“ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา” หมายความว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัตินี้
“ครู” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน
“ผู้บริหารสถานศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาภายในเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาอื่นที่จัดการศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
“ผู้บริหารการศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
“บุคลากรทางการศึกษาอื่น” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ซึ่งหน่วยงานการศึกษากำหนดตำแหน่งให้ต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษา
“หน่วยงานการศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาหรือหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่กำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริมให้บริการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
“สถานศึกษา” หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชนที่มีอำนาจหน้าที่ หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ การประกอบวิชาชีพต้องอยู่ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์การมีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้รวมทั้งให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกี่ยวกับการปฏิบัติการ อำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่ง หรือหน่วยงานต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
มาตรา ๗ ให้มีสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกว่า “คุรุสภา” มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ
มาตรา ๘ คุรุสภามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาต กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ
(๒) กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ
(๓) ประสาน ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ
มาตรา ๙ คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
(๒) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
(๓) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพ
(๔) พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
(๕) สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรจาบรรณของวิชาชีพ
(๖) ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง และผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
(๗) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรของสถาบันต่างๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพ
(๘) รับรองความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพ รวมทั้งความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ
(๙) ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ
(๑๐) เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศไทย
(๑๑) ออกข้อบังคับของคุรุสภาว่าด้วย
(ก) การกำหนดลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓
(ข) การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการรับรองความรู้ ประสบการณ์ทางวิชาชีพ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ
(ค) หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอรับใบอนุญาต
(ง) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต
(จ) จรรยาบรรณของวิชาชีพ และการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(ฉ) มาตรฐานวิชาชีพ
(ช) วิธีการสรรหา การเลือก การเลือกตั้ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการคุรุสภา และคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
(ซ) องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา
(ฌ) หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา
(ญ) การใดๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
(๑๒) ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายหรือปัญหาการพัฒนาวิชาชีพ
(๑๓) ให้คำแนะนำหรือเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ หรือการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่างๆ
(๑๔) กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคุรุสภา
(๑๕) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคุรุสภา
ข้อบังคับของคุรุสภาตาม (๑๑) นั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
การเสนอร่างข้อบังคับของคุรุสภาจะกระทำได้เมื่อคณะกรรมการคุรุสภามีมติเห็นชอบกับร่างข้อบังคับดังกล่าว และให้ประธานกรรมการคุรุสภาเสนอร่างข้อบังคับนั้นต่อรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า รัฐมนตรีอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด หากมิได้ยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับ ให้ถือว่ารัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับนั้น ถ้ารัฐมนตรียับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้คณะกรรมการคุรุสภาประชุมอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการยับยั้งในการประชุมครั้งหลังนี้ถ้ามีคะแนนเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้ประธานกรรมการคุรุสภาเสนอร่างข้อบังคับดังกล่าวต่อรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ถ้ารัฐมนตรีมิได้ให้ความเห็นชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับ ให้ถือว่าร่างข้อบังคับนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้ว
นอกจากอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คุรุสภามีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๒) ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ
(๓) กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคุรุสภา
(๔) สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๑๐ คุรุสภาอาจมีรายได้ ดังนี้
(๑) ค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(๓) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของคุรุสภา
(๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่คุรุสภา
(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)
รายได้ของคุรุสภาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ รวมทั้งไม่อยู่ในข่ายการบังคับตามกฎหมายภาษีอากร
มาตรา ๑๑ ค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามประกาศของรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้
ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการคุรุสภา
มาตรา ๑๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการคุรุสภา ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการศึกษา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือกฎหมาย
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการบริหารการศึกษา การอาชีวศึกษา การศึกษาพิเศษ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกฎหมายด้านละหนึ่งคน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา ไม่น้อยกว่าสามคน
(๔) กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา ซึ่งเลือกกันเองจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวนสามคน และจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำนวนหนึ่งคน
(๕) กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเลือกตั้งมาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจำนวนสิบเก้าคน ในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น และมาจากสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถานศึกษาเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
ให้เลขาธิการคุรุสภาเป็นเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
มาตรา ๑๓ ประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(ก) คุณสมบัติทั่วไป
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) มีความซื่อสัตย์และยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์
(ข) ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบวิชาชีพ
(๔) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นกรรมการ หรือดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
(๕) เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างหรือที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีสัญญาจ้างกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาหรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๖) เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับกิจการคุรุสภาหรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๘) มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา
ในกรณีที่ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตาม (ข) (๔) หรือ (ข) (๕) ผู้นั้นต้องลาออกจากตำแหน่งเดิมก่อนปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง แต่ถ้ามิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและให้รัฐมนตรีพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการสรรหาในลำดับถัดไปดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา ๑๔ นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ กรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครู ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้มีใบอนุญาตและไม่เคยถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี หรือดำรงตำแหน่งอาจารย์ ๓ หรือมีวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการขึ้นไป
มาตรา ๑๕ นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ กรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามมาตรา ๑๔ (๑) และต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอน และมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
มาตรา ๑๖ กรรมการตามมาตรา ๑๒ (๑) (๓) (๔) และ (๕) ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีก แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะมีการแต่งตั้งแทนหรือไม่ก็ได้
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ กรรมการตามมาตรา ๑๒ (๑) (๓) (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๘ ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการตามมาตรา ๑๒ (๑) (๓) (๔) และ (๕) ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งจำนวนสิบเอ็ดคนจากคณะกรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ (๒) จำนวนห้าคน และจากผู้แทนสมาคมวิชาการหรือวิชาชีพด้านการศึกษาที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเลือกกันเองจำนวนหกคน ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่สมควรเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ (๑) และ (๓) และจัดให้มีการประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์และการศึกษา เพื่อเลือกกันเองให้ได้กรรมการตามมาตรา ๑๒ (๔) รวมทั้งจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของคณะกรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ (๕)
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน และดำเนินการสรรหาและเลือกตั้งให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภารับผิดชอบดำเนินการในทางธุรการของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่กรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ (๑) และ (๓) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อื่นซึ่งได้รับการสรรหาในลำดับถัดไปดำรงตำแหน่งแทนก็ได้และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
ในกรณีที่กรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้ผู้ได้รับการเลือกหรือเลือกตั้งในลำดับถัดไป ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้ และให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่มีรายชื่ออยู่ไม่พอเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ดำเนินการสรรหา คัดเลือก หรือเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา ๑๘ แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่กรรมการตามมาตรา ๑๒ (๑) (๓) (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้กรรมการคุรุสภาที่มีอยู่เป็นกรรมการคุรุสภาต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการแทน และในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้กรรมการที่เหลือเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว
มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการคุรุสภามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารและดำเนินการตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๒) ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
(๓) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา ๕๔
(๔) เร่งรัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หรือคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
(๖) ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(ข) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะ อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนอื่นของพนักงานเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา
(ค) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวิธีการ เงื่อนไขในการจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา
(ง) การบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของคุรุสภา
(จ) กำหนดอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
(๗) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
(๙) พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
ส่วนที่ ๓
คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
มาตรา ๒๑ ให้มีคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการคุรุสภา
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการศึกษา การบริหาร และกฎหมาย
(๔) กรรมการจากคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีการสอนระดับปริญญาในสาขาวิชาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา ซึ่งเลือกกันเองจำนวนสองคน
(๕) กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจำนวนหกคน ซึ่งเลือกตั้งมาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครูที่มีประสบการณ์ด้านการสอนไม่น้อยกว่าสิบปี หรือดำรงตำแหน่งอาจารย์ ๓ หรือมีวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการขึ้นไป ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งไม่น้อยกว่าสิบปี ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งไม่น้อยกว่าสิบปี และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งไม่น้อยกว่าสิบปี
ให้เลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการ
การกำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพอื่น ให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
มาตรา ๒๒ การสรรหา การเลือก และการเลือกตั้งกรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา ๒๑ (๓) (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา
มาตรา ๒๓ กรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา ๒๑ (๓) (๔) และ (๕) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๔ กรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา ๒๑ (๑) (๓) (๔) และ (๕) ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีก แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้นำความในมาตรา ๑๖ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง กรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา ๒๑ (๑) (๓) (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ แล้วแต่กรณี
(๕) คณะกรรมการคุรุสภามีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
มาตรา ๒๕ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต
(๒) กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
(๓) ส่งเสริม พัฒนา และเสนอแนะคณะกรรมการคุรุสภากำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
(๔) ส่งเสริม ยกย่อง และพัฒนาวิชาชีพไปสู่ความเป็นเลิศในสาขาต่างๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา
(๕) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือมอบหมายกรรมการมาตรฐานวิชาชีพเพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
(๗) พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการคุรุสภามอบหมาย
ให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพเสนอรายงานการดำเนินงานประจำปีต่อคณะกรรมการคุรุสภา ตามระเบียบที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
ส่วนที่ ๔
การดำเนินงานของคุรุสภา
มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการคุรุสภามีการประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง การประชุมคณะกรรมการคุรุสภาต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๒๗ ในการประชุม ถ้าประธานกรรมการคุรุสภาไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา ๒๘ รัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุม และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังคุรุสภาในเรื่องใดๆ ก็ได้
มาตรา ๒๙ ให้นำความในมาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพหรือคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการคุรุสภา กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ อนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๑ ให้คณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งให้บุคคลใดๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานที่จำเป็นต่อการดำเนินงานตามอำนาจและหน้าที่
หนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำหรือหนังสือแจ้งให้ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุด้วยว่าจะให้มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุพยานในเรื่องใด
มาตรา ๓๒ ให้กรรมการคุรุสภา กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ อนุกรรมการและคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๓๓ กรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ (๓) (๔) และ (๕) จะดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๒๑ (๓) (๔) และ (๕) และมาตรา ๖๔ (๓) และ (๔) แล้วแต่กรณีในคราวเดียวกันไม่ได้
มาตรา ๓๔ ให้มีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา
(๒) ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการอื่นที่คุรุสภามอบหมาย
(๓) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินงานเสนอต่อคุรุสภา
มาตรา ๓๕ ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีเลขาธิการคุรุสภาคนหนึ่งบริหารกิจการของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รวมทั้งดำเนินการตามที่ประธานกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการคุรุสภา ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ หรือคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมอบหมาย
คณะกรรมการคุรุสภาเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนเลขาธิการคุรุสภา
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเลขาธิการคุรุสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
มาตรา ๓๖ เลขาธิการคุรุสภาต้องเป็นผู้สามารถทำงานให้แก่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้เต็มเวลา และต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(ก) คุณสมบัติทั่วไป
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบห้าปี
(๓) เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับกิจการของคุรุสภา ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙
(ข) ลักษณะต้องห้าม
(๑) มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๓ (ข) (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
(๒) เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๓) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับคุรุสภา
มาตรา ๓๗ เลขาธิการคุรุสภามีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกแต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
มาตรา ๓๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เลขาธิการคุรุสภาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการคุรุสภาให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(๔) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการคุรุสภากับเลขาธิการคุรุสภา
(๕) มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๓๖
มติของคณะกรรมการคุรุสภาให้เลขาธิการคุรุสภาออกจากตำแหน่งตาม (๓) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๓๙ เลขาธิการคุรุสภามีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ของคุรุสภา ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติและประกาศของคณะกรรมการคุรุสภาและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในให้ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการคุรุสภาตามระเบียบที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนดรวมทั้งให้มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดูแลรักษาทะเบียนผู้ได้รับใบอนุญาต
(๒) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของคุรุสภา
(๓) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภารวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนดำเนินงาน แผนการเงิน และงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อพิจารณา
(๔) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคุรุสภาต่อคณะกรรมการคุรุสภา
เลขาธิการคุรุสภาต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการคุรุสภาในการบริหารกิจการของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
มาตรา ๔๐ เลขาธิการคุรุสภา มีอำนาจดังนี้
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือน หรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดจนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ หรือประกาศที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
มาตรา ๔๑ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการคุรุสภาเป็นผู้แทนของคุรุสภาเพื่อการนี้ เลขาธิการคุรุสภาจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
มาตรา ๔๒ ให้คณะกรรมการคุรุสภาเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการคุรุสภาโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ส่วนที่ ๕
การประกอบวิชาชีพควบคุม
มาตรา ๔๓ ให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ การกำหนดวิชาชีพควบคุมอื่นให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ที่เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษาเป็นครั้งคราวในฐานะวิทยากรพิเศษทางการศึกษา
(๒) ผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนแต่ในบางครั้งต้องทำหน้าที่สอนด้วย
(๓) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมหรือผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
(๔) ผู้ที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
(๕) ผู้ที่ทำหน้าที่สอนในศูนย์การเรียนตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หรือสถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด
(๖) คณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
(๗) ผู้บริหารการศึกษาระดับเหนือเขตพื้นที่การศึกษา
(๘) บุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
มาตรา ๔๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(ก) คุณสมบัติ
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง
(๓) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
(ข) ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
มาตรา ๔๕ การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การกำหนดอายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา
ผู้ขอรับใบอนุญาต ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตหรือผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาต ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาวินิจฉัยไม่ออกใบอนุญาต ไม่ต่ออายุใบอนุญาต หรือไม่ออกใบแทนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการคุรุสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่ต่อใบอนุญาต หรือการไม่ออกใบแทนใบอนุญาตไม่ตัดสิทธิผู้ขอที่จะประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาตต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการคุรุสภาจะได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด
มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ใดแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคุรุสภา และห้ามมิให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา
มาตรา ๔๗ ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตต้องประกอบวิชาชีพภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดและเงื่อนไขตามข้อบังคับของคุรุสภา
มาตรา ๔๘ ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตต้องประพฤติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา
มาตรา ๔๙ ให้มีข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วย
(๑) มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ
(๒) มาตรฐานการปฏิบัติงาน
(๓) มาตรฐานการปฏิบัติตน
การกำหนดระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการประเมินระดับคุณภาพของผู้รับใบอนุญาตอย่างต่อเนื่องเพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ และความชำนาญการ ตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คุรุสภากำหนด
มาตรา ๕๐ มาตรฐานการปฏิบัติตน ให้กำหนดเป็นข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ ประกอบด้วย
(๑) จรรยาบรรณต่อตนเอง
(๒) จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
(๓) จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
(๔) จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
(๕) จรรยาบรรณต่อสังคม
การกำหนดแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
มาตรา ๕๑ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพของผู้ได้รับใบอนุญาตมีสิทธิกล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตผู้นั้นโดยทำเรื่องยื่นต่อคุรุสภา
กรรมการคุรุสภา กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ หรือบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพว่าผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยแจ้งเรื่องต่อคุรุสภา
สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง หรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด
การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้นไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕๒ เมื่อคุรุสภาได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษตามมาตรา ๕๑ ให้เลขาธิการคุรุสภาเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๕๓ ให้ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ พร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มพิจารณา
ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใดๆ ส่งให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ หรืออนุกรรมการ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ หรือภายในเวลาที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพกำหนด
มาตรา ๕๔ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ยกข้อกล่าวหา
(๒) ตักเตือน
(๓) ภาคทัณฑ์
(๔) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินห้าปี
(๕) เพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา ๕๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๕๔ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรมการคุรุสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา
คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการคุรุสภาให้ทำเป็นคำสั่งคุรุสภา พร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพควบคุมนับแต่วันที่ทราบคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้น
มาตรา ๕๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งเพิกถอนจะยื่นขออีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอน
ส่วนที่ ๖
สมาชิกคุรุสภา
มาตรา ๕๘ สมาชิกของคุรุสภามีสองประเภท ดังนี้
(๑) สมาชิกสามัญ
(๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์
การจดทะเบียนเป็นสมาชิกให้เป็นไปตามที่คุรุสภากำหนด
มาตรา ๕๙ สมาชิกสามัญต้องเป็นผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ (ข) (๑) (๒) และ (๓) และเป็นผู้มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
สมาชิกกิตติมศักดิ์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาแต่งตั้งโดยมติเป็นเอกฉันท์
มาตรา ๖๐ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญ มีดังต่อไปนี้
(๑) แสดงความเห็นและซักถามเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของคุรุสภาต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
(๒) เลือก รับเลือกตั้ง หรือรับแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๒๑
(๓) ชำระค่าธรรมเนียม ตามประกาศของคุรุสภา
(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
สมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ตาม (๒) และ (๓)
มาตรา ๖๑ สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการคุรุสภามีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพเพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๕๙ สำหรับกรณีสมาชิกสามัญ
(๔) คณะกรรมการคุรุสภามีมติถอดถอนการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
(๕) ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
หมวด ๒
คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
มาตรา ๖๒ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทำหน้าที่บริหารงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น และความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา
(๒) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของกระทรวงในเรื่องสื่อการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์การศึกษาและเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนา การดำเนินงานด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ และผดุงเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
มาตรา ๖๓ คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินงานด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น และความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา
(๒) ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง และผดุงเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา
(๓) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาได้รับสวัสดิการต่างๆ ตามสมควร
(๔) ให้ความเห็น คำปรึกษา และคำแนะนำในเรื่องการส่งเสริมสวัสดิการ
สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์และความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์และความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๕) ดำเนินงานและบริหารจัดการองค์การจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๖) ออกข้อบังคับและหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๗) แต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือมอบหมายให้กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อกระทำการใดๆ แทน
(๘) สรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๙) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบริหารงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๖๔ ให้คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย
(๑) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสามคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในด้านสวัสดิการสังคม บริหารธุรกิจ และกฎหมาย ด้านละหนึ่งคน
(๔) กรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน
สิบสองคน ในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มาจากสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สิบสองคน ในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มาจากสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๖๕ กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๖๔ (๓) และ (๔) ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แล้วแต่กรณี
การดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๖๔ (๓) และ (๔) ให้นำความในมาตรา ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๖๖ การประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้นำความในมาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ส่วนที่ ๒
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๖๗ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๒) ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการอื่นที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามอบหมาย
(๓) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
นอกจากอำนาจและหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ รวมทั้งให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๒) ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ
(๓) เข้าร่วมลงทุนกับนิติบุคคลอื่น ในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการบริหารงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๔) กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการบริหารงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๕) สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๖๘ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(๒) เงินค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่างๆ
(๓) เงินผลประโยชน์ต่างๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์
(๔) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นรวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๖) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕)
รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
มาตรา ๖๙ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาคนหนึ่งบริหารกิจการของสำนักงาน รวมทั้งดำเนินการตามที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามอบหมาย
คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๗๐ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องเป็นผู้สามารถทำงานให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เต็มเวลา และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๖
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกแต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(๔) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษากับเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๕) มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๓๖
มติของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาออกจากตำแหน่งตาม (๓) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๗๑ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติและประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในให้ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามระเบียบที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๒) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพิจารณา
(๓) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในการบริหารกิจการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๗๒ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีอำนาจดังนี้
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือน หรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดจนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติหรือประกาศที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด
มาตรา ๗๓ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้แทนของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อการนี้ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด
มาตรา ๗๔ ให้คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
หมวด ๓
การกำกับดูแล
มาตรา ๗๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำกับดูแลการดำเนินงานของคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณของรัฐให้คุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๒) สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของคุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาและจะให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ได้
(๓) สั่งเป็นหนังสือให้คุรุสภาและคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาระงับหรือแก้ไขการกระทำใดๆ ที่ปรากฏว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของคุรุสภาและคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กฎหมาย หรือข้อบังคับคุรุสภา และคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๗๖ ให้คุรุสภาเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของคุรุสภา รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนดำเนินงาน แผนการเงิน และงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๗๗ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินการบัญชีของคุรุสภาเป็นประจำทุกปี แล้วรายงานให้รัฐสภาทราบ
หมวด ๔
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๗๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๖ หรือมาตรา ๕๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๘๐ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเท่าที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนและให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง มีหน้าที่ดำเนินการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ และคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๖๔ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันประกอบด้วย
(๑) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนห้าคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคนจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในด้านการศึกษา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกฎหมาย ด้านละหนึ่งคน
(๓) ผู้แทนสมาคมวิชาชีพด้านการศึกษาที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเลือกกันเองจำนวนห้าคน
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และเลือกกรรมการอีกคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ
มาตรา ๘๑ ให้คณะกรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ และคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๖๔ ดำเนินการให้มีการแต่งตั้งเลขาธิการคุรุสภาและเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการคุรุสภา และคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการแต่งตั้ง
มาตรา ๘๒ ให้เลขาธิการคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาและให้รองเลขาธิการคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการคุรุสภาและรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพระราชบัญญัตินี้ไปก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการตามมาตรา ๘๑
ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นเจ้าหน้าที่และพนักงานของคุรุสภา และของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน ทั้งนี้ ให้ดำรงตำแหน่งและได้รับเงินเดือนค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
หลักเกณฑ์และวิธีการโอนเจ้าหน้าที่และพนักงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมตามภารกิจของคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๘๓ ให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่างๆ ของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ดังนี้
(๑) องค์การค้าของคุรุสภาและส่วนการลงทุนหรือสวัสดิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๒) ส่วนที่นอกเหนือจาก (๑) ไปเป็นของคุรุสภา
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการขององค์การค้าของคุรุสภาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและมีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันอย่างเสรีได้
มาตรา ๘๔ ผู้ใดเป็นครูซึ่งเป็นสมาชิกของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ อยู่แล้วก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หลักเกณฑ์และวิธีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภา
บทบัญญัติมาตรา ๔๓ ยังมิให้นำมาใช้บังคับจนกว่าคุรุสภาจะออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
มาตรา ๘๕ ในวาระเริ่มแรก ให้คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น และภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้มีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามข้อบังคับของคุรุสภา ทั้งนี้ ให้ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวมีสิทธิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๘๖ ในวาระเริ่มแรก มิให้นำความในมาตรา ๑๔ (๑) มาใช้บังคับแก่กรรมการคุรุสภาและกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจนกว่าคุรุสภาจะออกใบอนุญาต
มาตรา ๘๗ ในวาระเริ่มแรกของการเลือกกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ หรือการศึกษา ให้เลือกผู้แทนจำนวนสี่คนจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จนกว่าจะมีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนครบจำนวนสามแห่ง จึงจะเลือกผู้แทนตามบทบัญญัติมาตรา ๑๒ (๔)
มาตรา ๘๘ ให้วุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือปริญญาอื่นที่ ก.ค. กำหนดให้เป็นคุณวุฒิที่ใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคุณวุฒิในการขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๘๙ ให้สมาชิกคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ อยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการนั้นๆ ต่อไป
มาตรา ๙๐ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกคำสั่ง ประกาศ หรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำคำสั่ง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
อัตราค่าธรรมเนียม
(๑) ค่าขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ฉบับละ ๖๐๐ บาท
(๒) ค่าต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครั้งละ ๒๐๐ บาท
(๓) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ฉบับละ ๓๐๐ บาท
(๔) ค่าหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ
ในการประกอบวิชาชีพ ฉบับละ ๔๐๐ บาท
(๕) ค่าใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๒๐๐ บาท
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการศึกษาของชาติ จึงต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะอย่างสูงในการประกอบวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรมและประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งมีคุณภาพและมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อ
๑. พัฒนาวิชาชีพครูตามมาตรา ๘๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา ๙ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
๒. เพื่อปรับสภาในกระทรวงศึกษาธิการตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นองค์กรวิชาชีพครูตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้เป็นไปตามมาตรา ๗๓ โดยกำหนดให้มี
๒.๑ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกชื่อว่า “คุรุสภา” มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ และการพัฒนาวิชาชีพ
๒.๒ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ ความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของกระทรวงการศึกษา
๓. เพื่อสืบทอดประวัติศาสตร์และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งคุรุสภาให้เป็นสภาวิชาชีพครูต่อไป
พระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่ 2 , 3 ที่
สมัครติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา 4 ภาค 29 จุด ปี 2557-2558 ได้ที่
"ติวสอบดอทคอม" www.tuewsob.com หรือ คลิ๊กที่ภาพด้านล่างครับ
สร้าง-เขียน-บรรยาย โดย (ผอ.นิกร เพ็งลี)
เน็ตช้า เข้าที่ http://tuewsob.blogspot.com/
เน็ตแรง เข้าที่ http://www.tuewsob.com/
"ติวสอบดอทคอม" เว็บฟรี..ข้อสอบออนไลน์ สอบราชการ-ครู-ผู้บริหาร ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น