หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์

หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์
หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์

ติวสอบ รอง./ผอ.รร ปี 2567

ติวสอบ รอง./ผอ.รร ปี 2567
ติวสอบ รอง./ผอ.รร ปี 2567

ข้อสอบผู้บริหาร คู่ขนานสนามสอบจริง ปี 2562

ติวสอบดอทคอม (เว็บฟรี..ข้อสอบออนไลน์ เตรียมสอบครู ผู้บริหาร บุคลากรการศึกษาwww.tuewsob.com

ข้อสอบออนไลน์ ภาษาอังกฤษและการสร้างค่านิยม 12 ประการ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง









หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

1.
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : แนวคิดใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
1.1
เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ
โดยทั่วไป ผู้บริหารเศรษฐกิจมีเป้าหมายที่สำคัญสามประการคือ

      
ก) ด้านประสิทธิภาพคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมักจะพิจารณาจากการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestio Product) ซึ่งแสดงว่าในระยะเวลา 1 ปี ประเทศผลิตสินค้าและบริการรวมแล้วเป็นมูลค่าเท่าใด ดังนั้น การที่ประเทศมี GDP ขยายตัว จึงหมายถึงว่าสังคมมีการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรมากขึ้น ประชาชนโดยรวมมีความมั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งการขยายตัวได้ดีแสดงว่าระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ มีการจัดสรรทรัพยากรที่ดี

      
ข) ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือ การที่ตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การไม่มี shock ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ประชาชนโดยทั่วไปย่อมไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปรับตัวได้ยาก ในด้านเสถียรภาพนี้มักจะมองได้หลายมิติคือ การมีเสถียรภาพในระดับราคาของสินค้า หมายถึง การที่ระดับราคาของสินค้าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ประชาชนสามารถคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการได้ การมีเสถียรภาพของการมีงานทำ หมายถึง การที่ตำแหน่งงานมีความเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน การมีเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หมายถึง การที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพของราคาในประเทศ และทำให้วางแผนการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีความยุ่งยากมากขึ้น

      
ค) ด้านความเท่าเทียมกัน โดยทั่วไปหมายถึง ความเท่าเทียมกันทางรายได้ เมื่อเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ปรากฏว่า รายได้ของคนในประเทศมีความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ามีคนเพียงกลุ่มน้อยได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้อีก หากเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ปรากฏว่า มีคนจนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ประเทศไทยมีการขยายตัวที่ดี ทั้งด้านการส่งออก การผลิต รวมทั้งมีการมีการปรับโครงสร้างการผลิต โดยมีความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมก็เป็นสินค้าที่มีทักษะการผลิตสูงขึ้น (ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี และวิศาล บุปผาเวส 2540 หน้า 4-6) อัตราการขยายของผลผลิตมวลรวมของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2502-พ.ศ.2516 เฉลี่ยร้อยละ 8.1 ต่อปี, ปี พ.ศ.2517-พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก อัตราการขยายของผลผลิตมวลรวมของประเทศยังสูงถึงร้อยละ 6.3 ต่อปี และปี พ.ศ.2529-พ.ศ.2539 อัตราการขยายของผลผลิตมวลรวมของประเทศเฉลี่ยต่อปีของไทยคือ ร้อยละ 9.1 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ก่อนเหตุการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาโดยตลอด แม้จะลดลงบ้างในช่วงปี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกก็ตาม

นอกจากนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีเสถียรภาพสูง ทั้งเสถียรภาพของระดับราคาสินค้าเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และเสถียรภาพของการมีงานทำ อยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหา โดยที่ในปี พ.ศ.2504-พ.ศ.2513 ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 2.3 ต่อปี ช่วงปี พ.ศ.2514-พ.ศ.2523 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยคือร้อยละ 10.0 ต่อปี และในปี พ.ศ.2524-พ.ศ.2533 ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี

อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐกิจไทยก็มีความไม่สมดุลในหลายด้าน เช่น

การกระจายรายได้ถึงแม้ว่าสัดส่วนคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลง คนจนกลับมีสัดส่วนของรายได้ในระบบเศรษฐกิจน้อยลง โดยคนที่จนที่สุดร้อยละ 20 ของประชากรมีสัดส่วนของรายได้เหลือเพียงร้อยละ 6 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่คนรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนของรายได้ถึงร้อยละ 50 นั่นแสดงให้เห็นว่า การกระจากรายได้ของคนในประเทศแย่ลง โดยในขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูง ทั้งคนรวยและคนจนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ คนรวยจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าของคนจน

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างการผลิตและการจ้างงาน ความไม่สมดุลของโครงสร้างการผลิตและระดับการศึกษาของคนงาน (ดู Chalongphob Sussangkarn 1992 pp.22-37) เศรษฐกิจมหภาคก็ไม่สมดุล

การขาดสมดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องแสดงถึงความไม่สมดุลระหว่างการออกภายในประเทศและการลงทุน นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีการพึ่งพาเงินกู้ต่างประเทศสูงมากและเป็นเงินกู้ระยะสั้น แต่เงินที่กู้มานี้ นำมาลงทุนเพื่อหวังผลในระยะยาว ดังนั้น เมื่อการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีอัตราลดลง

ความมั่นใจถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศจึงมีลดลงทำให้มีความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของค่าเงินบาท ที่มีค่าคงที่มาเป็นเวลานาน นำไปสู่การโจมตีค่าเงินบาท และการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นระบบลอยตัว ค่าของเงินบาทลดลงอย่างมาก ภาระหนี้สินต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก จนเกิดวิกฤติในสถาบันการเงิน มีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

การเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 ย้ำให้เห็นว่า
แนวทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาของไทยยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้นได้ เพราะเกิดการไม่มีเสถียรภาพอย่างรุนแรง การชะงักงันของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันสูงขึ้น โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ติดลบร้อยละ 1.4 และ10.5 ในปี พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2541 ตามลำดับและได้เป็นตัวเลขบวก คือ ร้อยละ 4.5 และ 4.7 ในสองปีต่อมา แล้วกลับลดลงเป็นร้อยละ 1.9 ในปี พ.ศ.2544 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองปีที่ผ่านมากล่าวได้ว่า มีการฟื้นตัวของการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ในด้านดัชนีราคาผู้บริโภค มีการปรับตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 5.5 และ 8.5 ในสองปีหลังวิกฤติ และกลับมาอยู่ในระดับต่ำเช่นในอดีต สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มจากร้อยละ 14.9 ในปีก่อนวิกฤติ เป็นร้อยละ 54 ในปี พ.ศ.2545 และหลังวิกฤติดุลงบประมาณเป็นลบมาตลอด สัดส่วนคนจนต่อประชากรกลับมาระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ ความแตกต่างทางรายได้และทางภูมิภาคยังมีสูงอยู่ (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2546 หน้า 11-28) จะเห็นได้ว่า ในสภาวะปัจจุบันบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจจะยากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

1.2
โครงสร้างและเนื้อหาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้ผู้บริหารประเทศและประชาชน เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุล มีการพัฒนาเป็นลำดับขั้น ไม่เน้นเพียงการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมาเป็นเวลานานแล้ว เช่นพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ที่ว่า

"ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว..... การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอ ที่จะพึ่งตนเองย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันการผิดพลาดล้มเหลง"

และพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2517

"...ให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวด......"

วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แสดงให้เห็นปัญหาในการแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ และการบริหารเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมายังไม่มีความสมดุล ไม่สอดคล้องกับพระราชดำรัส จึงได้มีการประมวลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศและได้สรุปเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และขอพระบรมราชานุญาตใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่เก้า

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้มีการศึกษาโครงสร้างและเนื้อหา โดยกลุ่มพัฒนากรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจำแนกองค์ประกอบของปรัชญาเป็นกรอบความคิด คุณลักษณะ คำนิยาม เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ

คณะทำงานนี้สรุปว่า กรอบความคิด ของปรัชญานี้ เป็นการชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนทั้งแนวทางปฏิบัติและตัวอย่างการประยุกต์ที่เกิดขึ้น โดยปรัชญาใช้ได้ทั้งระดับปัจเจกชนครอบครัว ชุมชน ประเทศ ในที่นี้มองในแง่การบริหารเศรษฐกิจ (ระดับประเทศ) เป็นการมองโลกในลักษณะที่เป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลง มีความไม่แน่น และมีความเชื่อมโยงกับกระแสโลก คือไม่ใช่ปิดประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นเสรีเต็มที่อย่างไม่มีการควบคุมดูแล ไม่ใช่อยู่อย่างโดดเดี่ยวหรืออยู่โดยพึ่งพิงภายนอกทั้งหมด คุณลักษณะเน้นการกระทำที่พอประมาณบนพื้นฐานของความมีเหตุมีผลและการสร้างภูมิคุ้มกัน

เนื้อหา ความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง หากขาดองค์ประกอบใดก็ไม่เป็นความพอเพียงที่สมบูรณ์

ความพอประมาณ คือ ความพอดี กล่าวอย่างง่ายๆว่าเป็นการยืนได้โดยลำแข้งของตนเอง โดยมีการกระทำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปในมิติต่างๆ เช่น การบริโภค การผลิตอยู่ในระดับสมดุล การใช้จ่าย การออมอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ความมีเหตุมีผล หมายความว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอประมาณ ในมิติต่างๆ จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ต้องเป็นการมองระยะยาว คำนึงถึงความเสี่ยง มีการพิจารณาจากเหตุปัจจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิด

การมีภูมิคุ้มกันในตัวดีพอสมควร พลวัตในมิติต่าง ๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในสภาวะต่างๆ อย่างรวดเร็วขึ้น จึงต้องมีการเตรียมตัวพร้อมรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ การกระทำที่เรียกได้ว่าพอเพียงไม่คำนึงถึงเหตุการณ์และผลในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูลที่มีอยู่ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ เงื่อนไขการปฏิบัติ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การมีความรอบรู้ รอบคอบระมัดระวัง มีคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต

ความรอบรู้ คือ มีความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆอย่างรอบด้าน ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นประโยชน์พื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติอย่างพอเพียง การมีความรอบรู้ย่อมทำให้มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ความรอบคอบ คือ มีการวางแผน โดยสามารถที่จะนำความรู้และหลักวิชาต่างๆมาพิจารณาเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

ความระมัดระวัง คือ ความมีสติ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ในการนำแผนปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาต่างๆเหล่านั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ โดยเป็นการระมัดระวังให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ในส่วนของคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งคลุมคนทั้งชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ นักธุรกิจ มีสองด้านคือ ด้านจิตใจ/ปัญญาและด้านกระทำ ในด้านแรกเป็นการเน้นความรู้คู่คุณธรรมตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรอบรู้ที่เหมาะสม ส่วนด้านการกระทำหรือแนวทางดำเนินชีวิต เน้นความอดทน ความเพียร สติ ปัญญา และความรอบคอบ เงื่อนไขนี้จะทำให้การปฏิบัติตามเนื้อหาของความพอเพียงเป็นไปได้

ปรัชญากล่าวถึงแนวทางปฏิบัติและผลที่คาดว่าจะได้รับด้วย โดยความพอเพียงเป็นทั้งวิธีการและผล (End and mean) จากการกระทำ โดยจะทำให้เกิดวิถีการพัฒนาและผลของการพัฒนาที่สมดุล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ความสมดุลและความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงหมายถึง ความสมดุลในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ในขณะเดียวกัน ความสมดุลของการกระทำทั้งเหตุและผลจะนำไปสู่ ความยั่งยืนของการพัฒนา ภายใต้พลวัตทั้งภายในและภายนอกประเทศ

แนวทางการจัดการทางเศรษฐกิจและธุรกิจในอดีตมีจุดอ่อนหลายประการดังกล่าวแล้ว ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่สมดุลจนเกิดวิกฤติ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้เป็นแนวคิดใหม่ ในการบริหารเศรษฐกิจที่ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ได้

2.
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ
2.1
นโยบายเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับปรัชญา

ในส่วนนี้เป็นการวิเคราะห์ว่า
จากคุณลักษณะและเนื้อหาของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแนวทางในการดำเนินนโยบายและการบริหารเศรษฐกิจควรจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยพิจารณาจากโครงสร้างด้าน คุณลักษณะ เนื้อหา และเงื่อนไข

จาก คุณลักษณะ ของปรัชญานี้ชี้ให้เห็นว่า การบริหารเศรษฐกิจจะต้องเป็นทางสายกลาง รู้เท่าทันเพื่อการใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาวิวัฒน์ ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจจะไม่ใช่การปิดประเทศ ต้องส่งเสริมการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ณัฏฐพงศ์ ทองภักดีและคณะ(2542) ชี้ว่าการใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ตามแนวนี้ จะสอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องการผลิตและการค้าทำตามความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของประเทศเป็นหลักการสำคัญ นั่นคือการสร้างความได้เปรียบอย่างแท้จริงของประเทศ นโยบายเศรษฐกิจจะต้องสนับสนุนการแข่งขันทางการผลิตและการค้าเพื่อให้สังคมมีประสิทธิภาพ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ ไม่ปกป้องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่มีความได้เปรียบในการผลิตโดยตั้งภาษีนำเข้าสูง ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ เพราะสินค้านำเข้าจะมีราคาแพง ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้น การส่งออกทำได้ยากขึ้นในขณะเดียวกันต้องมีนโยบายสำหรับผู้เดือดร้อนจากการกระแสโลกาภิวัฒน์ให้ปรับตัวได้

ส่วน เนื้อหา ของปรัชญาที่กล่าวถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และมีระบบภูมิคุ้มกันแสดงว่า นโยบายเศรษฐกิจต้องมีความสมดุล สามารถให้เหตุให้ผลและชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจได้ มีความโปร่งใส มีการคำนึงถึงความเสี่ยง และต้องมีระบบในการบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

ความพอประมาณ คือ การอยู่ได้โดยตนเอง ยืนโดยขาของตนเอง มีการค้า การติดต่อกับสังคมอื่น แต่ตนเองอยู่ได้ ไม่พึ่งพิงแต่ภายนอก ในด้านของนโยบายสามารถมองทั้งระดับปัจเจกชน ชุมชนและสังคม

ในแง่ปัจเจกชน นโยบายต้องช่วยให้ปัจเจกชนยืนบนขาของตนเองได้ นั่นคือ มิมาตรการให้โอกาสทางเศรษฐกิจตามศักยภาพของแต่ละคน มาตรการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษา การบริการของรัฐ สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างทั่วถึง รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในขณะเดียวกันต้องมีมาตรการไม่ให้มีการสร้างหนี้สินมากเกินไปจนเกิดความไม่พอเพียง

ในด้านของชุมชน นโยบายเศรษฐกิจต้องสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อช่วยให้คนในชุมชนยืนได้ด้วยตนเอง ชุมชนแต่ละชุมชนย่อมมีความแตกต่างกัน ตามลักษณะของประชากร ทรัพยากร วัฒนธรรม ดังนั้น นโยบายต้องให้ชุมชนพัฒนาความแตกต่าง นโยบายกระจายอำนาจจากส่วนกลางจะมีส่วนสำคัญในการสร้างสาธารณูปโภคและบริการที่สนองตอบต่อความต้องการของชุมชนได้ดีกว่าการดำเนินงานจากส่วนกลาง นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของชุมชนด้วย

ในส่วนของระดับประเทศ ความพอประมาณ คือ การที่จะมีนโยบายให้ความสำคัญแก่วัตถุประสงค์ทั้งสามด้านคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพและความเท่าเทียมกัน โดยไม่มุ่งให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากไปจนไม่พอประมาณ เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชน โดยมีนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นโยบายการเงิน การคลังที่กำกับ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยควรเน้นเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งในอดีตมาตรการการเงินของไทยประสบความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพ โดยในปัจจุบันนโยบายการเงินแบบ Inflation targeting ก็เน้นเสถียรภาพด้านราคาเช่นกัน (สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 2542) นโยบายระดับประเทศต้องมีความสมดุลด้านการออมและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

นโยบายการออมของประเทศมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การสาธารณสุขของประเทศดีขึ้น สุขภาพอนามัยของประชาชนจึงดีขึ้นด้วยทำให้คนมีอายุขัยที่ยาวนานขึ้น ดังนั้น จึงส่งผลให้สัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น เมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ดังนั้น ผู้ที่อยู่วัยทำงานอาจจะรับภาระเลี้ยงทั้งเด็กและผู้สูงอายุไม่ไหว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือให้ประชาชนมีการออมในช่วงที่ยังอยู่ในวัยทำงานเพื่อจะได้นำเงินที่ออมนี้ไปใช้จ่ายเมื่อตนเองเกษียณอายุไปแล้ว เพื่อลดภาระของผู้ที่ทำงานในอนาคต เช่น โครงการประกันสังคมเป็นต้น

ในด้านความมีเหตุมีผล ความรอบคอบ การกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ ต้องมีความระมัดระวัง พิจารณาเหตุและผลของการกระทำ โดยคำนึงถึงผลระยะยาว และตระหนักถึงความเสี่ยงทั้งจากสภาพแวดล้อมและจากมาตรการของรัฐ การกำหนดนโยบายของรัฐมีพื้นฐานข้อสมมุติในด้านดีมากเกินไป ต้องวิเคราะห์ด้วยว่าหากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนในด้านร้าย ผลของนโยบายจะเป็นอย่างไร เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะฟองสบู่เกิดจากในระบบมาจากการที่มองเศรษฐกิจในแง่ดีเกินไป เช่น เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วก็คาดว่าจะขยายตัวเช่นนี้ตลอดไป จนมีมาตรการลงทุนขนาดใหญ่ไม่มีการเผื่อกรณีที่เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งจะทำให้เป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้

การลงทุนของรัฐบาลต้องมีเหตุผล ความรอบคอบ จึงต้องมีการวิเคราะห์โครงการเพื่อให้เห็นความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อมโครงการที่ควรลงทุนจะมีความคุ้มค่าต่อสังคม แสดงถึงความพอเพียง การวิเคราะห์โครงการยังทำให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของโครงการรัฐบาลด้วย

นโยบายรัฐต้องไม่สร้างความไม่รอบคอบให้แก่ประชาชน ตัวอย่างเช่น การประกันไม่ให้ธนาคารล้ม ก็อาจทำให้มีแรงจูงใจที่ผู้บริหารธนาคารไม่สนใจความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการประกอบการของธนาคารได้ หรือโครงการเกี่ยวกับการผ่อนภาระหนี้ของประชาชน ต้องไม่ทำให้ประชาชนมีการกู้หนี้ที่เกินตัว โดยคาดว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายรัฐ

การมีภูมิคุ้มกันคือ นโยบายรัฐบาลต้องคำนึงถึงผลของนโยบายในระยะยาวไม่เพียงผลเฉพาะหน้า มีระบบที่ดีต่อการจัดการความเสี่ยง เพื่อปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง เช่น

มาตรการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้เตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤติได้ ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ควรมีทั้งระดับ ประเทศ และระดับภูมิภาค เพราะความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้ปัญหาในประเทศหนึ่งจะสามารถกระทบประเทศอื่นในภูมิภาคได้

มาตรการสร้างระบบ Social safety net มีกลไกสร้างสวัสดิการหรือเครือข่ายต่างๆ เพื่อดูแลผู้เดือดร้อน ไม่ว่าจากการว่างงาน ไฟไหม้ น้ำท่วม หรืออุบัติเหตุต่างๆ เช่น การประกันการว่างงาน ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือคนที่อาจจะว่างงานจากการที่ผู้ผลิตต้องปิดกิจการลงเนื่องจากผู้ผลิตขาดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อประเทศเปิดเสรีในการลงทุนมากขึ้นแต่การประกันการว่างงานนี้ต้องเป็นการรับประกันในระยะสั้นหรือชั่วคราวเท่านั้น มิฉะนั้นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่ทำงานกันมากขึ้น เพราะถึงแม้ไม่มีงานทำแต่ก็ยังมีเงินใช้จากการที่รัฐบาลช่วยเหลือนั่นเอง

มาตรการรองรับผลของโลกาภิวัฒน์ ที่อาจจะทำให้มีผู้ผลิตที่ไม่สามารถแข่งขันได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนกิจการ เช่น กองทุนเพื่อการปรับตัวของผู้ประกอบการและแรงงานที่ถูกกระทบ

การมีเครื่องมือป้องกันการผันผวนของระบบเศรษฐกิจ เช่น มาตรการการคลังหรือการเงินกำกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุน เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อป้องกันความผันผวนหรือวิกฤติเศรษฐกจิของประเทศสมาชิก

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เนื้อหาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงย้ำให้ตระหนักถึง ความสำคัญของการมีความสมดุลและมีความรอบคอบระมัดระวังในการดำเนินบริหารเศรษฐกิจ

เงื่อนไข ในการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การมีความรอบรู้รอบคอบและมีคุณธรรมความซื่อสัตย์

นโยบายที่จะทำให้มีความรอบรู้รอบคอบที่จะนำไปสู่ ความระมัดระวัง คือมีมาตรการที่ทำให้มีระบบข้อมูลข่าวสารที่ดี ที่ประชาชนเข้าถึงได้ การบริหารเศรษฐกิจต้องมีระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย นโยบายรัฐต้องสร้างสังคมเป็นสังคมแห่งความรู้ ประชาชนมีการศึกษาที่ดี จึงทำให้มีความรู้ความรอบคอบได้

การมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์ คือระบบสังคมต้องมี ธรรมาภิบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน

ในด้านของธรรมาภิบาลภาครัฐ
การบริหารเศรษฐกิจต้องมีนโยบายลดการฉ้อราษฏร์บังหลวงซึ่งทำให้มีผลเสียต่อทั้งด้านการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและความเท่าเทียมกัน เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนสูงเกินควร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนจนจะถูกกระทบจากการฉ้อราษฏร์บังหลวงมากกว่าคนมีเงิน รัฐจะต้องลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นที่เป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้มากขึ้นเพื่อให้มีความโปร่งใส รวมทั้งมีมาตรการให้ภาคเอกชนให้บริการประชาชนแทนภาครัฐ นอกจากนี้ต้องมีมาตรการลดแรงจูงใจในการฉ้อราษฤร์บังหลวง โดยเพิ่มรายได้ของข้าราชการ แต่เพิ่มโอกาสในการถูกจับและลงโทษที่หนักสำหรับผู้ที่ทุจริต

ในด้านของภาคเอกชน
การมีบรรษัทภิบาลคือการทำให้ผู้บริหารไม่ทุจริตและกระทำการโดยคำจึงถึงผลประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อธุรกิจ การบริหารเศรษฐกิจจะต้องมีโครงสร้างกฎหมายและสถาบัน ให้คุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย มีระบบข่าวสารข้อมูลที่ดีแก่ผู้ลงทุนเพื่อให้ลงทุนในบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดี มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีระบบการตรวจสอบภายในที่ดี ลงโทษผู้บริหารที่ฉ้อโกง

2.2
การบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

หากมีการวางนโยบายและดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ได้อภิปรายข้างต้น สังคมจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆได้อย่างสมดุล

ด้านการขยายตัวเกิดขึ้นได้ โดยใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ การผลิตมีประสิทธิภาพจากระบบธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลที่ดี การขยายตัวมีความพอประมาณ นั่นคือจะมีความยั่วยืนไม่ใช่เฉพาะระยะสั้น และมีความสมดุล จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา และกอบศักดิ์ ภูตระกูล(2546) ชี้ให้เห็นว่า แนวทางพัฒนาตามพระราชดำริเป็น "การพัฒนาแบบ ล่างพร้อมบน ชนบทพร้อมเมือง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ "เพราะเป็นการพัฒนาในทุกส่วนของสังคม"

ด้านเสถียรภาพ ค่อนข้างชัดเจนว่าความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน คือ การลดความเสี่ยง ความผันผวน ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ เพระหากว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์ ก็จะมีเครื่องมือที่จะหลีกเลี่ยง รวมทั้งมีกลไกในการปรับตัว อย่างไรก็ตาม ตามหลักความสมดุล หากมีเสถียรภาพในปัจจุบันแต่สร้างความไม่มีเสถียรภาพในระยะยาว ก็จะมีปัญหาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่คงที่ แต่ให้มีการไหลเข้าของเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี ทำให้มีแรงกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรงได้ และเกิด shock ขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจ

แนวทางบริหารเศรษฐกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะเป็นแนวคิดที่คำนึงความสมดุลของคนในสังคม ให้ทุกส่วนในสังคมมีความพอเพียงยืนได้ด้วยตนเองผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกระจายทั่วถึงกว่าแนวคิดที่จะให้มีความเจริญจากส่วนบนและหลั่งไหลลงสู่ส่วนล่าง การสร้างภูมิคุ้มกันคือ การให้มีกลไกการบรรเทาผู้เดือดร้อน คือ การมี social safety net มีระบบสังคมที่เอื้ออาทร มีการดูแลคนในสังคมทุกระดับ เงื่อนไขที่ให้คนมีความรอบรู้ซื้อสัตย์คือการให้โอกาสทางการศึกษา การทำให้สังคมมีคุณธรรม เป็นธรรมแก่คนทั่วไป โดยทั่วถึง

3.
รัฐกับเศรษฐกิจพอเพียง

Adam Smith
ผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ เน้นที่ให้ระบบตลาดทำงานอย่างเสรี โดยจะมีมือที่มองไม่เห็นนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ โดยบทบาทรัฐที่สำคัญแบ่งเป็นสามด้าน (1) การปกป้องการรุกรานจากต่างประเทศ (2) การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดูแลเกี่ยวข้องกับการปกป้อง คุ้มครอง ประชาชนภายใต้การปกครองของตนเอง (3) การสร้างสาธารณูปโภค ที่เอกชนไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ในทัศนะนี้รัฐจะไม่มีบทบาทมากนักที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์ในยุคใหม่ ให้ความสำคัญของบทบาทรัฐในการบริหารเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภายใต้ระบบกลไกตลาด รัฐจะมีบทบาทในการสร้างสถาบันต่างๆ ที่ทำให้ระบบตลาดทำงานได้ดี เช่นการกำหนดกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ การออกกฏเกณฑ์กำกับดูแลตลาดและการแลกเปลี่ยน และเข้ามาแทรกแซงเมื่อตลาดมีความล้มเหลวทำงานไม่ได้สมบูรณ์ (Stiglitz J. 2000 pp. 76-89 ) เช่น การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natyral monopoly) การมีผลกระทบภายนอก (Externality) นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าระบบตลาดในความเป็นจริงจะไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างเข็มแข็งเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อพิจารณาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ จะมีข้อสรุปได้ว่า การบริหารเศรษฐกิจไม่สามารถจะใช้ระบบกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวต้องอาศัยภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ รัฐจะต้องทำให้ตลาดทำงานได้ และแก้ไขความล้มเหลวของระบบตลาด นองจากนี้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชี้ให้เห็นด้วยว่า รัฐต้องมีบทบาททางสังคม ที่จะสร้างให้คนในสังคมมีความพอเพียง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน นั้นคือ เป็น บทบาทที่ลึก ไปกว่าการทำให้ระบบตลาดทำงานตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งหากจะมองในแต่ละด้านที่สำคัญคือ

รัฐต้องสร้างความสมดุลในการจัดการเศรษฐกิจ ก) คำนึงถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจทั้งสามด้านดังกล่าวข้างต้น ข) ขจัดความไม่สมดุลในด้านต่างๆในระบบเศรษฐกิจ ค) มีระบบที่จะสร้างความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลของคนในสังคม

รัฐต้องมีระบบการจัดการเศรษฐกิจมหภาค ต้องเน้นเสถียรภาพและการจัดการความเสี่ยง โดยไม่มองในแง่ดีเกินไป เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี มีความยืดหยุ่นรองรับต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชี้ให้เห็นว่า การดำเนินตามปรัชญานี้ เงื่อนไขสำคัญคือ รัฐต้องมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี นั่นคือ การสร้างให้การบริหารจัดการทั้งภาครัฐมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดรับชอบ ความโปร่งใส โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม

รัฐเองต้องมีความพอเพียง โครงการและมาตรการรัฐ ต้องไม่สร้างความไม่พอประมาณ ความไม่มีเหตุมีผล การลงทุนและการก่อหนี้ของภาครัฐต้องไม่เกินตัวและคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว หากให้การตัดสินใจของรัฐมีเหตุมีผล รัฐจะต้องมีข้อมูลที่ดี มีการศึกษาเพื่อวางแผนวางนโยบายที่ดี คนในรัฐบาลต้องมีการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งโยงถึงการมีระบบการเมืองที่ดีด้วย

ความพอเพียงดังกล่าวนี้ รวมถึงการที่รัฐต้องมีความตระหนักถึงข้อจำกัดหรือความล้มเหลวของรัฐในการแทรกแซงตลาดเช่นกัน เป็นธรรมชาติของภาคราชการที่จะมีประสิทธิภาพแตกต่างจากภาคเอกชน นักการเมืองมักจะไม่เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้จากข้อจำกัดดังนี้ และเข้าแทรกแซงตลาดเกินความจำเป็น ข้อจำกัดของรัฐบาลมีประเด็นดังนี้ (Stiglitz . 2000 pp.4-25)

ข้อจำกัดด้านข้อมูล

การที่รัฐเข้าแทรกแซงตลาดต้องมีข้อมูล เช่น การที่รัฐจะทำการผลิตหรือควบคุมการผลิตรัฐบาลต้องรู้ความพอใจและความต้องการของผู้บริโภค และต้นทุนของการผลิตทั้งอุตสาหกรรมจึงจะกำหนดปริมาณและราคาที่เหมาะสมได้ รัฐเองจึงมีต้นทุนที่จะต้องหาข้อมูลนั้น

การวางนโยบายกำกับดูแลระบบตลาดก็ต้องมีข้อมูลที่ดี ตัวอย่างเช่น การกำหนดปริมาณมลภาวะให้โรงงานกำจัด หากจะมีประสิทธิภาพต้องรู้ถึงต้นทุนการกำจัดมลภาวะและผลกระทบของมลภาวะนั้นจึงจะสามารถกำหนดได้อย่างเหมาะสม หรือ การปล่อยกู้ของธนาคารรัฐให้แก่ชาวบ้านแทนตลาดเงินกู้นอกระบบ รัฐอาจจะมีข้อมูลของผู้ขอกู้น้อยกว่าผู้ให้กู้นอกระบบ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับผู้ขอกู้มากกว่า สามารถประเมินได้ว่าจะสามารถใช้หนี้ได้หรือไม่ รวมทั้งมีวิธีติดตามหนี้ที่มีต้นทุนต่ำกว่ากรณีของรัฐ การปล่อยกู้ของรัฐอาจจะมีโอกาสเป็นหนี้เสียมากขึ้น เป็นลักษณะของความไม่พอเพียงลักษณะหนึ่ง

ข้อจำกัดของมาตรการต่อพฤติกรรมภาคเอกชน

มาตรการรัฐหลายมาตรการจะมีผลผ่านทางพฤติกรรมหรือกิจกรรมของภาคเอกชน จึงต้องดูด้วยว่าตลาดหรือภาคเอกชนตอบสนองแค่ไหน ถ้าไม่มีการตอบสนอง มาตรการก็ไม่มีผล ถึงมีการตอบสนองก็จะมีความเฉื่อย (time lag) จึงเห็นผลงานช้า การแก้ไขปัญหาอาจไม่ทันการ เช่น บางภาวะรัฐบาลดำเนินนโยบายเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยการมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ย โดยหวังผลให้มีการขยายตัวของการลงทุนในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การดูว่าจะมีการลงทุนสูงขึ้นหรือไม่นั้นต้องดูสภาพหรือสภาวะของภาคเอกชนในช่วงเวลานั้นด้วย คือ ขึ้นอยู่กับว่าเอกชนจะมีการตอบสนองนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยมากน้อยหรือไม่อย่างไร เพราะถ้าเอกชนไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นผลลัพธ์จากการลดอัตราดอกเบี้ยก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน สรุปในกรณีนี้ คือ รัฐบาลควบคุมเครื่องมือได้แต่ต้องอยู่ภายใต้พฤติกรรมของภาคเอกชนด้วย

ข้อจำกัดในการดำเนินการของข้าราชการ

รัฐบาลจะดำเนินการโดยการสั่งการผ่านข้าราชการ หากข้าราชการมีเป้าหมายต่างจากรัฐ เช่น ต้องการหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากมาตรการรัฐ หรือต้องการอำนาจมากกว่าการบริการประชาชนตามนโยบายของรัฐ รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ก็อาจมีอิทธิพลต่อข้าราชการ ลักษณะเช่นนี้ทำให้นโยบายรัฐไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการมีธรรมาภิบาลที่ดีจะลดปัญหานี้ได้ อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามระเบียบราชการก็จะมีผลให้มาตรการของรัฐขาดประสิทธิภาพได้เช่นกัน

ข้อจำกัดทางกระบวนการการเมือง

นักการเมืองมีเป้าหมายของตนเอง มีผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งอาจไม่ใช่ประโยชน์ต่อประชาชน การออกนโยบายแทนจะเป็นตามเป้าหมายเศรษฐกิจก็อาจเป็นเรื่องการออกนโยบายหรือมาตรการตามประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งอาจเรียกว่า คอรัปชั่นทางนโยบายหรือมาตรการรัฐได้

นอกจากนี้ กระบวนการทางการเมืองก็มีข้อจำกัดในตัวเอง กฎหมายมีความล่าช้าในการผ่านสภา กลุ่มการเมืองมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน การดำเนินมาตรการต่างๆจึงมีความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ

การเลือกตั้งทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ขัดกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าวงจรการเลือกตั้ง (Eiection cycle) เป็นลักษณะที่นักการเมืองมีวัตถุประสงค์ที่สนองประโยชน์ของตัวเอง นั่นคือการได้รับการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น เมื่อจะเลือกตั้งก็จะมีการตั้งงบประมาณใช้จ่ายมาก เพื่อเป็นการสร้างความนิยมต่อประชาชน งบประมาณมักจะขาดดุลในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชี้ให้เห็นบทบาทของรัฐในการบริหารเศรษฐกิจที่กว้างกว่าแนวคิดเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป โดยรัฐต้องมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้ระบบตลาดทำงานได้ดีและแทรกแซงเมื่อตลาดมีความไม่สมบูรณ์ และต้องสร้างความพอเพียงในระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับประชาชน ชุมชน และประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐเองต้องมีความพอเพียงโดยตัวเองอีกด้วย


เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต
รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม
ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม
และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำ
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา

เศรษฐกิจพอเพียง
      เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
     เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
     การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้
1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สมารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อ ความมั่นคง และ ความยั่งยืน ของการพัฒนา
2.  คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
3.  คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้
3.1  ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
3.2  ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3.3  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4.  เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
4.1  เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
4.2  เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
5.  แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี


เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
      เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี



การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
      สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้ริเริ่มการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสานต่อความคิดและเชื่อมโยงการขยายผลที่เกิดจาการนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้อย่างหลากหลาย รวมทั้งเพื่อจุดประกายให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ และการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างจริงจัง
" … ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น
เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน
ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา
เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่งคงพอควรแล้ว
จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นสูงขึ้นตามลำดับต่อไป
การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ
ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น
ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว
และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์"
พระบรมราชโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2517
     การขับเคลื่อนจะเป็นลักษณะเครือข่ายและระดมพลังจากทุกภาคส่วน แบ่งเป็น 2 เครือข่ายสนับสนุนตามกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ได้แก่
•  เครือข่ายด้านประชาสังคมและชุมชน
•  เครือข่ายธุรกิจเอกชน
นอกจากนี้แล้วยังมีเครือข่ายสนับสนุนตามภารกิจ ได้แก่
•  เครือข่ายวิชาการ
•  เครือข่ายสร้างกระบวนการเรียนรู้
•  เครือข่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
     ทั้งนี้แกนกลางขับเคลื่อนมี 3 ระดับได้แก่ คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และกลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียงใน สศช. ซึ่งจะเป็นหน่วยปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนและจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลการดำเนินงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 80 พรรษา ในเดือนธันวาคม 2550
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความสามารถของชุมชนเมือง รัฐ ประเทศ หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการทุกชนิดเพื่อเลี้ยงสังคมนั้น ๆ   ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยต่างๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ
- เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลนั้น คือ ความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตน ตามฐานะ ตามอัตภาพ   และที่สำคัญไม่หลงใหลไปตามกระแสของวัตถุนิยม มีอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่พันธนาการอยู่กับสิ่งใด
- หากกล่าวโดยสรุป คือ หันกลับมายึดเส้นทางสายกลางในการดำรงชีวิต
หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
               การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง• 
 ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

การปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
l ยึดหลัก พออยู่ พอกิน พอใช้
l ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่าย ลดความฟุ่มเฟือย ในการดำรงชีพ
l "ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ่งเฟ้อต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง"
l ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องและสุจริต

ทฤษฎีใหม่" 3 ขั้น คือ
           ขั้นที่ 1 มีความพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและขจัดการใช้จ่าย
           ขั้นที่ 2 รวมพลังกันในรูปกลุ่ม เพื่อการผลิต การตลาด การจัดการ รวมทั้งด้านสวัสดิการ การศึกษา การพัฒนาสังคม
           ขั้นที่ 3 สร้างเครือข่าย กลุ่มอาชีพและขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคองค์การพัฒนาเอกชน และภาคราชการในด้านเงินทุน การตลาด การผลิต การจัดการและข่าวสารข้อมูล



สมัครติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา 4 ภาค 29 จุด ปี 2557-2558 ได้ที่

"ติวสอบดอทคอม"  www.tuewsob.com  หรือ คลิ๊กที่ภาพด้านล่างครับ

 ติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา


สร้าง-เขียน-บรรยาย โดย (ผอ.นิกร เพ็งลี)
เน็ตช้า เข้าที่ http://tuewsob.blogspot.com/
เน็ตแรง เข้าที่ http://www.tuewsob.com/

"ติวสอบดอทคอม" เว็บฟรี..ข้อสอบออนไลน์ สอบราชการ-ครู-ผู้บริหาร ฯ

ติวสอบดอทคอม www.tuewsob.com โดย ผอ.นิกร เพ็งลี

1 ความคิดเห็น:

  1. ผอ.นิกร ที่เคารพ

    ได้เข้ามาทำข้อสอบออนไลน์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
    อยากเรียนถามข้อสุดท้ายที่เฉลยว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านตรงกับห่วงการมีเหตุผล แทนที่จะเป็นการทำบัญชีรายรับรายจ่ายหรือโครงการออมเงินตรงกับห่วงการมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งทั้ง2ข้อนั้น ก็น่าจะหมายถึงยอมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นะครับ
    ถ้าว่ามาตอบคำถามด้วยครับผม

    สิทธิชัย โขนงนุช
    โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว
    เคยไปติวกับท่านครั้งที่มาที่เชียงใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้วครับ

    ตอบลบ

ติวสอบดอทคอม

ติวสอบดอทคอม
ติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา

ติวสอบ บน ยูทูป

ติวสอบ บน ยูทูป
ติวสอบ บน ยูทูป

ติวสอบ ฟรี บน ยูทูป

ติวสอบดอทคอม (เว็บติวสอบครู ผู้บริหาร บุคลากร การศึกษา)

ติวสอบดอทคอม (เว็บฟรี..ข้อสอบออนไลน์ เตรียมสอบครู ผู้บริหาร บุคลากรการศึกษาwww.tuewsob.com

กลับหน้าหลัก ติวสอบดอทคอม

กลับหน้าหลัก ติวสอบดอทคอม
ติวสอบดอทคอม