หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์

หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์
หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์

ติวสอบ รอง./ผอ.รร ปี 2567

ติวสอบ รอง./ผอ.รร ปี 2567
ติวสอบ รอง./ผอ.รร ปี 2567

ข้อสอบผู้บริหาร คู่ขนานสนามสอบจริง ปี 2562

ติวสอบดอทคอม (เว็บฟรี..ข้อสอบออนไลน์ เตรียมสอบครู ผู้บริหาร บุคลากรการศึกษาwww.tuewsob.com

ข้อสอบออนไลน์ ภาษาอังกฤษและการสร้างค่านิยม 12 ประการ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การส่งเสริมสนับสนุนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง







การส่งเสริมสนับสนุนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


การพัฒนาวิชาชีพครู

การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และ กระบวนการพัฒนาความรู้ความคิดของผู้เรียน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการออกแบบและการดำเนินการพัฒนาวิชาชีพครูให้ประสบผลสำเร็จ

ความรู้และความเชื่อที่ส่งเสริมการออกแบบและการดำเนินการพัฒนาครู
               ความรู้ หมายถึง ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และมีแหล่งอ้างอิง เช่นงานวิจัยสนับสนุนองค์ความรู้นั้นๆ ดังนั้นความรู้จึงแตกต่างจากความคิดเห็น เพราะความคิดเห็นไม่จัดเป็นความรู้ เนื่องจากความคิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลและมักไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน ส่วนความเชื่อหมายถึง ข้อมูลที่เรารู้จากประสบการณ์และ/หรือจากการบอกเล่าโดยบุคคลอื่น
               นักวิจัยทางการศึกษาพบว่าความรู้และความเชื่อมีบทบาทสำคัญต่อการออกแบบและการพัฒนาครู รวมถึงมีผลต่อการเรียนของมนุษย์ นักวิจัยพบว่าวิทยากรหรือบุคคลที่มีหน้าที่ช่วยเหลือครูให้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และสามารถสอนวิทยาศาสตร์ได้ดีต้องคำนึงเสมอว่า
·      การเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่เกิดจากองค์ความรู้เดิมของผู้เรียน
·      การเรียนเป็นกระบวนการที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม
·      ความรู้ใหม่จะเกิดจากประสบการณ์และมีปฏิสัมพันธ์กับความคิดและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ตนเองพบเห็น
·      การเรียนรู้จะเกิดได้ในบริบทที่มีความสำคัญและมีความหมายต่อผู้เรียน
·      การเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หรือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน
·      การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา วิทยากรจึงต้องอดทนและใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อช่วยให้ครูมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างถูกต้อง
ดังนั้นการอบรมครูที่ดีควรมีการจัดการเรียนรู้และประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนกับที่ครูต้องนำสิ่งเหล่านั้นกลับไปสอนในชั้นเรียน เพราะประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้ครูมีความเข้าใจและตระหนักว่าวิธีการเรียนและวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ที่ดีควรเป็นอย่างไร ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้ครูกลับไปสอนนักเรียนของตนได้ดียิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันวิทยากรหรือผู้สอนพึงตระหนักว่า ในการอบรมควรเปิดโอกาสให้ครูเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ ในรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูสามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ครูได้ทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และมีการสะท้อนความคิดเห็น และการตรวจสอบการเรียนรู้ของตนได้ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งและยั่งยืน    
               นักวิจัยทางการศึกษาพบว่าโดยส่วนใหญ่ผู้เรียนมีความรู้เดิมซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ในวัยเด็ก รวมถึงความเชื่อจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ติดตัวมา (Abell & Roth, 1992) ดังนั้นการสอนที่เริ่มจากโดยค้นหาความรู้และความเชื่อของผู้เรียนแล้วเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมของผู้เรียนอย่างมีความหมายจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน

สังคมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ครูได้สะท้อนความรู้และความเข้าใจเรื่องธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์จะช่วยให้ครูมีแบบแผนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงว่ามนุษย์ควรมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งจะทำให้เข้าใจองค์ความรู้หรือมีแนวความคิดใหม่
Learning environments that reflect how people learn helps learners make those connections and provide collaborative forms of learning that people can interact with one another and make sense of new concepts and ideas (Jonassen, 1994).

Guskey และ Sparks (Guskey, 2000, . 73) ได้เสนอแบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอบรมครูและการเรียนรู้ของนักเรียน โดยแบบจำลองนี้แสดงให้เห็นว่าการอบรมครูที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ดังนี้คือ (1) ลักษณะของสาระ  (2) ความหลากหลายของกระบวนการ  และ (3) ลักษณะของบริบท 
 














รูปที่ 1. รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาครูและการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน[1]

ลักษณะของสาระ หมายถึง อะไร  Guskey อธิบายว่าวิทยากรต้องตระหนักอยู่เสมอถึงเป้าหมายหรือความคาดหวังของการอบรม รวมทั้งมุมมองที่สัมพันธ์กับความสำคัญ ขอบข่าย ความเชื่อถือได้และการใช้ได้จริง ที่จำเป็นในการช่วยให้ครูสามารถพัฒนาองค์ความรู้และมีทักษะใหม่ ส่วนความหลากหลายของกระบวนการ หมายถึงรูปแบบของการอบรม โดยมีความหมายครอบคลุมถึงกิจกรรมที่ใช้ในการอบรม การจัดการ การดำเนินการอบรม และการติดตามผล และสำหรับลักษณะของบริบท หมายถึง ใคร เมื่อไร ที่ไหน และทำไมซึ่งครอบคลุมถึงระบบการจัดการ วัฒนธรรมหรือสังคมของผู้เรียน (ครู) สถานที่ที่จัดอบรม และเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่แก่ครู
Guskey (2000) มีความเห็นว่าการเรียนการสอนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ดังนั้นการอบรมครูต้องมีการออกแบบและดำเนินการที่ใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมสำหรับองค์กร สังคม โครงสร้าง แหล่งทรัพยากรและสนองความต้องการของครูกลุ่มนั้นๆ ให้มากที่สุด
แบบจำลองของ Guskey ยังแสดงให้เห็นว่าความรู้และพฤติกรรมการสอนของครูมีผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้นถ้าการอบรมครูไม่สามารถพัฒนาครูให้มีความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาสาระวิทยาศาสตร์ รวมถึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของครูในชั้นเรียนได้แล้ว การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนก็จะไม่เป็นไปตามที่ครูคาดหวัง
นอกจากนี้แบบจำลองของ Guskey ยังแสดงให้เห็นอีกว่าผู้บริหารโรงเรียนมีอิทธิพลโดยทางอ้อมต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ของสถานศึกษา รวมถึงเป็นผู้คัดเลือกหลักสูตร กิจกรรม หนังสือเรียน วิธีวัดและประเมินผลการเรียนรู้ นอกจากนี้ผู้บริหารโรงเรียนยังมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของครูทั้งทางด้านวิชาการและวิธีสอน ผู้บริหารที่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จะสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของครูได้ดี เช่น จัดสังคมการเรียนรู้ในโรงเรียนให้แก่ครู การเปิดคลินิกวิชาการ ให้คำแนะนำด้านการเรียนการสอน การนิเทศการสอน และการจัดการประเมินผลการสอนของครู

การดำเนินการอบรมที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้
·  สร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้เดิมของครูและความรู้ใหม่
·  เปิดโอกาสให้ครูมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของตนเองในแต่ละขั้นของกระบวนการเรียนรู้ เช่น สร้างความสนใจ  การสนทนา  และการแสดงความคิดเห็นที่ท้าทายความคิดเดิมเพื่อให้สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ถูกต้อง
·  สร้างสังคมการเรียนรู้ในบริบทที่คุ้นเคย หรือเป็นกันเองกับครู
·  ท้าทายหรือกระตุ้นให้ครูเปรียบเทียบ วิเคราะห์ และช่วยแก้ปัญหาให้ครูเมื่อความรู้เดิมที่มีและความรู้ใหม่ขัดแย้งกัน
·  ช่วยครูพัฒนายุทธวิธีสอนที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดี
·  ช่วยให้ครูมีความรู้ และความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมเรื่องการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนที่ตนรับผิดชอบ
·  เปิดโอกาสให้ครูทำงานร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากปัญหาที่เคยประสบ ตลอดจนหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน
·  ให้ครูรู้วิธีประเมินหรือวัดความรู้ความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับเนื้อหา วิธีสอน หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์หรือแนวทางที่สามารถช่วยให้ครูสามารถเปลี่ยนความรู้ ความเชื่อและพฤติกรรมในการสอนวิทยาศาสตร์ให้สอดคล้องกับที่มาตรฐานกำหนด มีดังนี้
1.         ให้ครูรู้สึกขัดแย้งระหว่างความเชื่อ พฤติกรรมและความรู้หรือประสบการณ์เดิมกับความรู้หรือประสบการณ์และความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ รวมถึงกระตุ้นให้ครูแสดงความเข้าใจของตนเกี่ยวกับความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น ให้กระตุ้นให้ครูรู้สึกสับสนหรือไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนคิดว่าตนรู้เรื่องวงจรไฟฟ้าและกระตุ้นให้ครูรู้สึกความไม่แน่ใจหรือสับสนว่านักเรียนมีความเข้าใจเรื่องวงจรไฟฟ้าอย่างไร
2.         ให้เวลาและความช่วยเหลืออย่างเพียงพอแก่ครูเพื่อให้ครูได้คิดเรื่องการขัดแย้งหรือความสับสนที่เกิดขึ้น ครูต้องการเวลาและโอกาสในการสนทนา การท้าทายความคิดด้วยคำถามหรือกิจกรรม การอ่าน หรือการทำความเข้าใจในประสบการณ์ต่างๆ ที่พบในการอบรม
3.         ให้ครูทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องนั้นๆ รวมถึงกิจกรรมที่จะช่วยแก้ไขความสับสนนั้น เปิดโอกาสให้ครูได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ว่ากิจกรรมที่ตนทำสร้างความสับสนในการเข้าใจ องค์ความรู้นั้นๆ อย่างไร, ความรู้เดิมของตนสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่ กิจกรรมและ   องค์ความรู้ใหม่ที่ถูกต้องสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างไร
4.         ให้ครูเห็นตัวอย่างการสอนเรื่องนั้นๆ รวมถึงตัวอย่างการเรียนหรือกระบวนการคิดและความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องนั้น โดยอาจให้ครูศึกษาจากใบงานที่นักเรียนทำ ดูเทปตัวอย่างการสอนที่หลากหลายรูปแบบเพื่อนำมาวิเคราะห์และสนทนา หรือดูกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ของนักเรียนขณะทำกิจกรรม
5.         เมื่อครูมีความเข้าใจการเรียนการสอนเรื่องนั้นๆ แล้ว เปิดโอกาสให้ครูคิดวิธีสอนเรื่องนั้นๆ ขึ้นใหม่
6.         ให้ครูเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดย (ก) กำหนดเรื่องที่เป็นปัญหาในการเรียนการสอนใหม่, (ข) กระตุ้นให้ครูทำความเข้าใจเรื่องนั้นๆ โดยผ่านกระบวนการข้างต้น และ (ค) ติดตาม ให้คำแนะนำ เพื่อช่วยครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนไปในทางที่ดีขึ้น

ยุทธวิธีการสอนที่ใช้ในการอบรมเพื่อพัฒนาครู
               Loucks-Horseley, Love, Stile, Mundry, และ Hewson (2003) ได้เสนอกลยุทธ์การสอนสำหรับอบรมและพัฒนาวิชาชีพครู ไว้ 18 วิธี ดังที่แสดงไว้ในตารางที่ 1
ตารางที่ 1
การจัดทำและนำหลักสูตรไปใช้
การจัดหลักสูตรและการเลือกสื่อการสอน
การนำเสนอหลักสูตรเพื่อนำไปใช้
การเสนอหลักสูตรหรือหน่วยเรียนใหม่เพื่อใช้แทนหลักสูตรหรือหน่วยเรียนเดิม
โครงสร้างการทำงานร่วมกัน
การร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ในธุรกิจ อุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัย
เครือข่ายวิชาชีพ
กลุ่มศึกษา
การตรวจสอบการสอนและการเรียน
การวิจัยในชั้นเรียน
การอภิปรายกรณีศึกษา
การตรวจสอบงานและความคิดของนักเรียนและคะแนนจากการประเมินผล
การศึกษาบทเรียน
การสอดแทรกประสบการณ์
การสอดแทรกกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ในวิทยาศาสตร์ และการแก้ปัญหาในคณิตศาสตร์
การคร่ำหวอดอยู่ในโลกของนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์
การฝึกสอน
การนิเทศการสอน
การสาธิตบทเรียน
การให้คำปรึกษา
เครื่องมือและส่วนประกอบ
การพัฒนาผู้อบรมมืออาชีพ
เทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาความเป็นมืออาชีพ
การฝึกอบรม สถาบัน หลักสูตร และการสัมมนา

 
กลยุทธ์การสอนเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู[2]























อย่างไรก็ตามวิธีที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในการอบรมครูในประเทศไทยที่จะกล่าวถึงในที่นี้มี 2 วิธีคือ Curriculum Implementation และ Immersion in inquiry in science

Curriculum Implementation
วัตถุประสงค์ในการใช้กลยุทธ์ Curriculum implementation คือช่วยให้ครูเรียนรู้หลักสูตร กิจกรรม วิธีการสอน และการนำไปใช้ในห้องเรียน หัวใจของกลยุทธ์นี้คือเปิดโอกาสให้ครูได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตร วิธีการสอน หรือกิจกรรมที่มีอยู่ในหลักสูตรนี้แก่กัน ในขณะเดียวกันครูต้องเรียนรู้เนื้อหาสาระวิทยาศาสตร์ การจัดการเรียนการสอน และการวัดการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย
วิธีการสอนโดยใช้ Curriculum implementation ในการอบรมครู เพื่อช่วยพัฒนาครูทางด้านความรู้ของเนื้อหา วัสดุ-อุปกรณ์ และวิธีการสอนที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการสอนในชั้นเรียน

Immersion in Inquiry in Science
               จุดประสงค์ของการใช้ยุทธวิธีในการสอนแบบ Immersion in Inquiry in Science คือเปิดโอกาสให้ครูเรียนรู้เนื้อหาสาระและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จากประสบการณ์ตรงของตนเอง กล่าวคือเมื่อครูได้เรียนรู้แบบเป็นผู้เรียนเอง จะทำให้ครูเข้าใจเนื้อหาสาระวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองสอนในชั้นเรียนได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้เมื่อครูได้มีประสบการณ์โดยตรงในการทำกิจกรรมต่างๆ ครูจะสามารถเตรียมการสอนที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมหรือเป็นนักสำรวจตรวจสอบ การเลือกใช้วิธีการสอนลักษณะนี้มาจากสมมติฐานที่ว่าเมื่อครูได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้ทั้งด้านเนื้อหาสาระและกระบวนการด้วยตนเองแล้วครูจะมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำความรู้นั้นไปถ่ายทอดสู่นักเรียนได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญของวิธีการสอนแบบ Immersion in Inquiry in Science คือการให้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้แบบตนเองเป็นผู้เรียนอย่างเข้มข้นทั้งเนื้อหาสาระและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้การให้ครูเรียนรู้ผ่านกระบวนการสำรวจตรวจสอบ (inquiry) อาจช่วยครูให้เปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมการสอนให้เป็นแบบ inquiry ได้ (Radford, 1998)
นักวิจัยได้กล่าวว่าการอบรมที่ดีควรใช้ยุทธวิธีในการสอนที่หลากหลาย และการอบรมเพื่อพัฒนาครูควรได้รับการออกแบบและดำเนินการในรูปแบบโครงการระยะยาวที่มีการติดตามผลเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนครูเมื่อครูต้องกลับไปทำงานที่สถานศึกษาหรือไปสอนในห้องเรียนเดิม การติดตามครูอย่างต่อเนื่องยังช่วยให้ครูรู้สึกว่าตนเองไม่ถูกทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาโดยลำพังหลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว

การจัดการอบรมเพื่อพัฒนาครูโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียวจะไม่เกิดคุณภาพเต็มที่เท่ากับการผสมผสานกลวิธีต่างๆ เข้าด้วยกันเพราะการจัดกิจกรรมการสอนแต่ละวิธีเป็นการแก้ปัญหาแต่ละส่วนไป ดังนั้นการอบรมที่ดีควรมีการออกแบบการสอนโดยเชื่อมโยงหลายวิธีเข้าด้วยกันเพื่อเกิดประโยชน์และพัฒนาความรู้แก่ครูที่เข้ารับการอบรมอย่างลึกซึ้ง
         Strategies in isolation do not constitute effective professional development. Each strategy is one piece of the puzzle. Effective professional development must use a variety of strategies in combination with one another to form a unique design. (Loucks-Horsley et al., 2003)
              
ในการวัดคุณภาพของการอบรมเพื่อพัฒนาครูนั้น Guskey (2000) ได้จัดลำดับการวัดและการประเมินผลของการอบรมไว้ 5 ขั้นที่ต่อเนื่องกัน โดยจัดระดับตามความง่ายและความซับซ้อน ดังนี้
1.         ปฏิกิริยาของผู้เรียน - เน้นการวัดความพึงพอใจของครูที่มีต่อการอบรม
2.         การเรียนรู้ของผู้เรียน เน้นการวัดความรู้ด้านเนื้อหา ทักษะ และเจตคติ
3.         การสนับสนุนขององค์กร หน่วยงาน และสถานศึกษา - เน้นการวัดการสนับสนุนของหน่วยงานที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้และทักษะสอนของครู
4.         การทดลองใช้องค์ความรู้ใหม่ทั้งด้านเนื้อหาสาระและทักษะการสอนของผู้เรียน - เน้นการวัดการเรียนรู้ของครูหลังการอบรมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในการสอนหรือไม่
5.         ผลการเรียนรู้ของนักเรียน เน้นการวัดว่าการอบรมมีความสำเร็จผลสัมฤทธิ์ในการเรียนและพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร

เอกสารอ้างอิง
Abell, S., & Roth, M. (1992). Constraints to teaching primary science: A case study of a science enthusiast student. Science Education, 76, 581-595.
Guskey, T. R., & Sparks, D. (1996). Exploring the relationship between staff development and improvements in student learning. Journal of Staff Development, 17(4), 34-38.
Guskey, T. R. (2000). Evaluating professional development. Thousand Oaks, CA: Corwin Press.
Loucks-Horsley, S., Love, N., Stiles, K. E., Mundry, S., & Hewson, P. W. (2003). Designing professional development for teachers of science and mathematics (2nd ed.): Thousand Oaks, CA: Corwin Press.
Radford, D. L. (1998). Transferring theory into practice: A model for professional development for science education reform. Journal of Research in Science Teaching, 35 (1), 73-88.

ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

               ในการจัดการเรียนรู้วิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ จำเป็นที่ผู้สอนจะต้องตระหนักว่า วิชาเหล่านั้นมีธรรมชาติของวิชาหรือลักษณะของศาสตร์เป็นอย่างไร เพื่อจะจัดการกระบวนการเรียนรู้ได้สอดคล้องและทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในวิชาหรือศาสตร์เหล่านั้นอย่างถ่องแท้ตลอดจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป สำหรับในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าจะต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ 

ความหมายของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์
ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ในความหมายที่เป็นที่ยอมรับของนักการศึกษาด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ศึกษาในปัจจุบัน สรุปได้ว่า เป็นลักษณะเฉพาะตัวของวิทยาศาสตร์ที่ทำให้วิทยาศาสตร์มีความแตกต่างจากศาสตร์อื่นๆ เป็นค่านิยม ข้อสรุป แนวคิดหรือคำอธิบายที่บอกว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร มีการทำงานอย่างไร นักวิทยาศาสตร์คือใครและทำงานอย่างไร และงานด้านวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์อย่างไรกับสังคม ซึ่งค่านิยม ข้อสรุป แนวคิดหรือคำอธิบายเหล่านี้จะแฝงอยู่ในตัววิทยาศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์  และเป็นการมองสิ่งเหล่านี้ในเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการกำเนิด ธรรมชาติ วิธีการและขอบเขตของความรู้ของมนุษย์ (Epistemology)และในเชิงสังคมวิทยา(Sociology) (AAAS, 1993; Lederman, 1998; McComas et al., 1998; NSTA, 1998).
               จากความหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่า ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ประกอบไปด้วยแนวคิดเกี่ยวกับตัววิทยาศาสตร์อยู่หลายแนวคิด ซึ่งในที่นี้อาจจัดหมวดหมู่ของแนวคิดเหล่านั้นได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามการจัดของ The American Association for the Advancement of Science (AAAS) ได้แก่

กลุ่มแนวคิดที่ 1: การมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ (The Scientific World View) นักวิทยาศาสตร์ทำงานโดยมีแนวความเชื่อพื้นฐานบางอย่างร่วมกันซึ่งทำให้แตกต่างจากการทำงานของผู้ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ เช่น มีความเชื่อว่าจักรวาลเป็นระบบที่มีเอกภาพซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจได้ ความเข้าใจที่นักวิทยาศาสตร์มีต่อโลกยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงยังคงมีการตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติมีกลไกการทำงานอย่างไรต่อไป  หรือมีความเชื่อว่าเมื่อเราศึกษาส่วนหนึ่งใดส่วนหนึ่งแล้วจะสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับส่วนอื่นๆ ได้ แต่ก็มีข้อจำกัดภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น เมื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตบางอย่างในห้องทดลองแล้วนำผลการศึกษาไปใช้ ก็อาจจะพบผลที่แตกต่างเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ  หรือมีความเชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ค่อนข้างคงที่และเชื่อถือได้เนื่องจากค่อยๆ ถูกสั่งสมมาเป็นเวลานาน แต่ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยยึดถือว่าความรู้ที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว
กลุ่มแนวคิดที่ 2: การสืบเสาะความรู้แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry) การสืบเสาะความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการสังเกต การสำรวจตรวจสอบ การทดลองและการจัดกระทำข้อมูลโดยมีขั้นตอนและกระบวนการที่ยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องเป็นลำดับขั้นที่ตายตัว และมีการใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับการใช้เหตุผลและหลักฐานเชิงประจักษ์ และเป็นทั้งการทำงานโดยส่วนตัวและการทำงานร่วมกันของกลุ่มคน
กลุ่มแนวคิดที่ 3: กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ (The Scientific Enterprise) กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างจากในอดีต เช่น มีความเป็นองค์กรอยู่ในสังคม ผู้ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์สามารถเลี้ยงชีพได้จากการทำงานด้านนี้ และนโยบายของรัฐบาลส่งผลต่อการสนับสนุนกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ของสังคม ลักษณะของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์อาจแบ่งได้เป็น 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ โครงสร้างทางสังคม วิชาชีพและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรมของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ และบทบาทของนักวิทยาศาสตร์ในสังคม

แนวคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษา

ระดับปฐมวัย
นักเรียนในระดับปฐมวัยควรได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัว ซึ่งแนวความคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์เบื้องต้นที่นักเรียนในระดับปฐมวัยควรทราบจากการเรียนรู้ ได้แก่  
กลุ่มแนวคิดที่ 2: การสืบเสาะความรู้แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)
·      ทุกคนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัวโดยใช้การสังเกตอย่างละเอียดรอบคอบ และบางครั้งเราสามารถเรียนรู้ได้จากการทำบางอย่างกับสิ่งต่างๆ และบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น
·      เครื่องมือต่างๆ เช่น ไม้บรรทัด เครื่องชั่ง แว่นขยาย สามารถช่วยให้หาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นกว่าการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสเพียงอย่างเดียว
·      การอธิบายสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจนตรงตามความเป็นจริงจะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบสิ่งที่ตนเองสังเกตพบกับสิ่งที่ผู้อื่นสังเกตพบได้
·      เมื่อหลายคนอธิบายของสิ่งเดียวกันได้แตกต่างกัน ควรจะทำการสังเกตเพิ่มเติมแทนที่จะเอาแต่ถกเถียงกันว่าใครถูกหรือผิด
  กลุ่มแนวคิดที่ 3: กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ (The Scientific Enterprise)
·      ทุกคนสามารถทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และคิดและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ได้
·      การทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ดีควรร่วมกันทำเป็นกลุ่มและแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบกับคนอื่นๆ แต่สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มก็ควรจะได้ข้อสรุปของตนเองว่าสิ่งที่ค้นพบหมายความว่าอย่างไร
·      เราสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากพืชและสัตว์ด้วยการสังเกตอย่างรอบคอบ แต่ควรทำอย่างระมัดระวังและคอยดูแลเอาใจใส่ตามความต้องการของสิ่งมีชีวิตที่นำมาศึกษานั้น

ระดับประถมศึกษาช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3)
นักเรียนควรได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในกลุ่มแนวคิดเดียวกับนักเรียนระดับปฐมวัย และควรพัฒนาแนวความคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมในกลุ่มแนวคิดที่ 1 ได้แก่

กลุ่มแนวคิดที่ 1: การมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ (The Scientific World View)
·      เมื่อทำการสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการแบบเดียวกัน เราควรคาดว่าจะได้ผลการสำรวจที่คล้ายคลึงกัน
·      เราสามารถใช้วิธีการสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์แบบเดียวกันในสถานที่ที่แตกต่างกันได้

ระดับประถมศึกษาช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-6)
นักเรียนควรได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในลักษณะเช่นเดียวกับนักเรียนระดับปฐมวัยและประถมศึกษาช่วงชั้นที่ 1 เพื่อพัฒนาแนวความคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนขึ้นในกลุ่มแนวคิดทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแนวคิดที่ 1: การมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ (The Scientific World View)
·      การสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการที่เหมือนกันในแต่ละครั้ง ไม่ค่อยให้ผลที่เหมือนเดิมทุกประการ เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปัจจัยต่างๆ เช่น สิ่งที่สำรวจตรวจสอบอาจมีความแตกต่างกันในบางด้านที่คาดไม่ถึง หรือวิธีการที่ใช้ในการสำรวจตรวจสอบอาจมีความคลาดเคลื่อนบางอย่าง หรืออาจเกิดจากการสังเกตที่ไม่เที่ยงตรง ซึ่งเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าเกิดจากปัจจัยใด
กลุ่มแนวคิดที่ 2: การสืบเสาะความรู้แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)
·      การสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การสังเกตลักษณะของสิ่งของหรือเหตุการณ์ การเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบ และการทำการทดลอง การสำรวจตรวจสอบสามารถใช้ได้กับคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางกายภาพ สิ่งมีชีวิต และสังคม
·      ผลของการสำรวจตรวจสอบมักจะไม่ค่อยเหมือนเดิมทุกประการ หากมีความแตกต่างกันอย่างมากควรจะพยายามค้นหาสาเหตุ การทำตามขั้นตอนอย่างรัดกุมและเก็บข้อมูลอย่างละเอียดจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่บอกได้ว่าอะไรทำที่ให้เกิดความแตกต่าง
·      คำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการสังเกตและอีกส่วนหนึ่งมาจากความคิดเห็น บางครั้งนักวิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งที่สังเกตพบอย่างเดียวกันด้วยคำอธิบายที่แตกต่างกัน จึงนำไปสู่การสังเกตเพิ่มเติม
·      นักวิทยาศาสตร์จะให้ความสำคัญกับข้อค้นพบที่ถูกอ้างขึ้นมาเมื่อมีหลักฐานที่ยืนยันได้และผ่านการอภิปรายอย่างมีเหตุผล
 
กลุ่มแนวคิดที่ 3: กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ (The Scientific Enterprise)
·      วิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมที่ท้าทายซึ่งคนทุกคนจากทุกประเทศสามารถมีส่วนร่วมได้
·      การสื่อสารอย่างชัดเจนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสื่อสารสิ่งที่พวกเขาทำกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ นำความคิดมาอภิปรายถกเถียงกันกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ และสามารถได้รับข่าวสารการค้นพบทางวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก
·      การทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับงานหลายประเภทและทำให้คนทุกเพศ ทุกวัยและทุกสถานะภาพได้เข้ามามีส่วนร่วม  
กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ในการสอนธรรมชาติของวิทยาศาสตร์

ความเข้าใจต่อธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ราวปลายทศวรรษ 1960 โดยนักการศึกษาเริ่มตระหนักว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ควรจัดให้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ คือ ควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับการเรียนแนวคิดหลักทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นทั้งองค์ความรู้และกระบวนการในการสร้างองค์ความรู้ ดังนั้นกิจกรรมคิดและปฏิบัติ (Hands-on Mind-on activities and Practical work) กิจกรรมปฏิบัติการในห้องทดลอง และการทดลอง และกิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ จึงถูกนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ (Lederman, 1992)
               ต่อมานักการศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม จึงได้มีการนำเอาประวัติของวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ (History of Science and Scientists) และเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Stories of Science and Controversy issues) เข้ามาบูรณาการกับการสอนองค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ (Historical case studies) หรือกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม (STS approach) (Matthews, 1992; Aikenhead, 1994; Hand, et al., 1999)
               ปัจจุบันนักการศึกษาที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ได้เสนอแนวคิดว่าการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยพัฒนาความเข้าใจต่อธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนควรจะมีการระบุหรือบ่งชี้แนวความคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอหรือสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนการสอนออกมาอย่างชัดเจน และผู้สอนควรกระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนแสดงความเข้าใจของตนต่อแนวความคิดเหล่านี้ออกมา เพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงแนวคิดที่ตนเองมีต่อธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และพัฒนาแนวคิดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดนี้เรียกว่า กระบวนการสอนแบบบ่งชี้ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Explicit Instructional Approach for teaching the Nature of Science) (Lederman, 1998)  

ลักษณะของกระบวนการสอนแบบบ่งชี้ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Explicit Instructional Approach for teaching the Nature of Science)

               งานวิจัยการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์พบว่ากระบวนการสอนแบบบ่งชี้ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการสอนหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาความเข้าใจต่อธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Clough, 1997; Lederman, 1998)

                กระบวนการสอนนี้มีลักษณะสำคัญ คือ
1.         มีการระบุจุดประสงค์การเรียนรู้แนวคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างชัดเจน
2.         มีการบ่งชี้แนวคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างชัดเจนจากกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นการยกประเด็นแนวคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้ผู้เรียนพิจารณา และกระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนได้แสดงแนวคิดของตนเองออกมาเพื่อให้ตระหนักถึงแนวคิดเดิมของตนเองและเชื่อมโยงแนวคิดเดิมกับแนวคิดใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้
3.         มีการวัดและประเมินแนวคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยดูจากการที่นักเรียนแสดงแนวคิดของตนเองออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การพูดและอภิปราย การตอบแบบวัด และการแสดงพฤติกรรมระหว่างทำกิจกรรมปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

               ในการจัดการเรียนการสอนตามกระบวนการนี้ ผู้สอนสามารถออกแบบกิจกรรมการสอน การใช้สื่ออุปกรณ์ และการวัดประเมินผลการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายเพื่อสอนแนวคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ เช่น
·      การสอนโดยใช้เรื่องราวต่างๆ เป็นสื่อในการเรียนรู้ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ (Science stories) และประเด็นข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์ (Controversy issues) (Sadler & Zeidler, 2003)
·      การสอนโดยใช้ประวัติของวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ในการอภิปรายเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ เช่น ใช้กรณีศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ (Historical case studies) (Irwin, 2000; Matthews, 2000)
·      การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ฝึกทำปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ แล้วสะท้อนความเข้าใจต่อกระบวนการและธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมที่ได้ทำ เช่น การทำกิจกรรมคิดและปฏิบัติ (Hands-on Mind-on activities and Practical work) การทำกิจกรรมปฏิบัติการในห้องทดลองและการทำการทดลอง และการทำกิจกรรมตามกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เช่น วัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้   (Inquiry cycle) การสืบเสาะหาความรู้โดยกระตุ้นด้วยคำถามและมีแนวทางการสืบเสาะชี้นำผู้เรียนในการหาคำตอบ (Guided inquiry) และ การสืบเสาะหาความรู้โดยให้ผู้เรียนออกแบบและทำการสืบเสาะหาคำตอบของปัญหาด้วยตนเอง (Open-ended inquiry) (National Academy of Science, 1998; Bianchini & Colburn, 1999)


เอกสารอ้างอิง
American Association for the Advancement of Science (AAAS). 1993. Benchmarks for Science Literacy.  New York: Oxford University Press.
Aikenhead, G. 1994. What is STS Science Teaching? in Solomon, J. and Aikenhead, G. (Eds.), STS Education: International Perspective on Reform. New York, USA: Teachers College Press, Columbia University. 169-186.
Bianchini, J.A. and Colburn, A. 1999. Teaching the Nature of Science through Inquiry to Prospective Elementary Teachers: A Tale of Two Researchers. Journal of Research in Science Teaching. 37, 177–209.
Clough, M.P. 1997. Strategies and Activities for Initiating and Maintaining Pressure on Students’ Naïve Views Concerning the Nature of Science. Interchange. 28 (2&3), 191-204.
Hand, B., Prain, V., Lawrence, C. and Yore, L.D. 1999.  A Writing in Science Framework Designed to Enhance Science Literacy. International Journal of Science Education. 21(10), 1021-1035.
Irwin, A.P. 2000. Historical Case Studies: Teaching the Nature of Science in Context. Science Education. 84, 5–26.
Lederman, N.G. 1992.  Students’ and Teachers’ Conceptions of the Nature of Science: A Review of the Research. Journal of Research in Science Teaching. 29(4), 331-359.
Lederman, N.G.1998. The State of Science Education: Subject Matter without Context. Electronic Journal of Science Education. 3(2), 1-12.
Matthews, M.R. 1992. History, Philosophy, and Science Teaching: The Present Rapprochement. Science & Education. 1, 11–47.
Matthews, M.R. 2000. Time for Science Education: How Teaching the History and Philosophy of Pendulum Motion can Contribute to Science Literacy. Plenum Publishers: New York.
McComas, W.F., Clough, M. and Almazroa, H.  1998.  The Role and Character of the Nature of Science in Science Education. In W.F. McComas (Ed.) The Nature of Science in Science Education. Kluwer Academic Publishers: Netherlands.
National Academy of Science. 1998. Teaching About Evolution and the Nature of Science. Washington, D.C.: National Academy Press.
National Science Teachers Association (NSTA).  1998.  NSTA Standards for Science Teacher Preparation Adopted by the NSTA Board of Directors, 1998 (online). www.nvgc.vt.edu/nsta-ncate/november98.htm., April 25, 2003.
Sadler, T. D. and Zeidler, D.L. 2003. Teaching “Bad Science”. The science Teacher. Academic Research Library. 70(9), 36.







[1]คัดลอกจาก Guskey, T. R. (Figure 3.2, p. 73, 2000). Evaluating professional development. Thousand Oaks, CA: Corwin Press.
[2] คัดลอกจาก Loucks-Horsley, S., Love, N., Stiles, K. E., Mundry, S., & Hewson, P. W. (Figure 1.2, p. 4, 2003). Designing professional development for teachers of science and mathematics (2nd ed.): Thousand Oaks, CA: Corwin Press.
เนื้อหา “การพัฒนาวิชาชีพครู:สาระสำคัญที่ควรทราบ”
การพัฒนาวิชาชีพครู :  สาระสำคัญที่ควรทราบ
ครู หมายความว่า บุคคลวิชาชีพที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอน และ การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน (พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  : มาตรา 4)
sp500703.jpg
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ที่มีผลกระทบต่อครู
1. ครูในอนาคต  ต้องเป็นตัวอย่างของผู้ที่ได้รับการศึกษา (มาตรา 6 , มาตรา 7)
2. ครูในอนาคต  ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่าง-ต่อเนื่อง   (มาตรา 8 , มาตรา 25 , มาตรา 30)
3. ครูในอนาคต  ต้องปฏิบัติงานตามาตรฐานวิชาชีพครู  (มาตรา 9(4))
4. ครูในอนาคต  ต้องจัดการศึกษาพื้นฐานได้  (มาตรา 10)
5. ครูในอนาคต  ต้องมีความสามารถในการสอนผู้เรียนหลายประเภท (มาตรา 10)
6. ครูในอนาคต  ต้องปฏิบัติงานได้ใน 3 ระบบการศึกษา  (มาตรา 15)
7. ครูในอนาคต  จะต้องปฏิบัติงานได้ในสถานศึกษาต่าง ๆ  ( มาตรา 18)
8. ครูในอนาคต  ส่วนหนึ่งต้องจัดการอาชีวศึกษา    โดยให้ความร่วมมือ กับสถานประกอบการ   (มาตรา 20)
9. ครูในอนาคต  ต้องจัดการศึกษาโดยถือผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด (มาตรา 22)
10. ครูในอนาคต  จะต้องจัดให้มีการเรียนรู้และทักษะต่าง ๆ   (มาตรา 22)
11. ครูในอนาคต  จะต้องจัดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง  (มาตรา 24)
12. ครูในอนาคต  ต้องสามารถประเมินผู้เรียน  (มาตรา 26)
13. ครูในอนาคต  ต้องสามารถจัดทำสาระของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (มาตรา 27)
14. ครูในอนาคต  จะต้องช่วยให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้  (มาตรา 29)
15. ครูในอนาคต  ต้องมีคุณภาพและมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (มาตรา 52 , มาตรา 53)
16. ครูในอนาคต  จะได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนที่เหมาะสม  (มาตรา 55)
17. ครูในอนาคต  จะได้รับการพัฒนาและการเชิดชูเกียรติ (มาตรา 52 , มาตรา 55)
แนวความคิดการพัฒนาวิชาชีพครู
  1. คุณภาพของผลผลิตและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เป็นเครื่องชี้  ความสำเร็จของวิชาชีพ
  2. การพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยการพัฒนางานในภาวะปกติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ     จะส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตได้ตามเป้าหมาย
  3. การพัฒนางานที่เป็นการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องเรียนรู้ หลักการ วิธีการ และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในงานอาชีพ และนำมาใช้ในงานเพื่อค้นหาความรู้ สร้างความรู้ใหม่ในวิชาชีพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
  4. ครูที่สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และ เป็นไปตามมาตรฐาน ควรได้รับผลตอบแทนสอดคล้องกับระดับมาตรฐานคุณภาพงานที่ปฏิบัติ
  5. การพัฒนาวิชาชีพครู เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของครูทุก ๆ คน  เพื่อสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นอยู่เสมอ
เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู พ.ศ. 2537 (คุรุสภา)
มาตรฐานที่  1    ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ
มาตรฐานที่  2     ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ  โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดกับผู้เรียน
มาตรฐานที่  3     มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
มาตรฐานที่  4     พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
มาตรฐานที่  5     พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
มาตรฐานที่  6     จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน
มาตรฐานที่  7     รายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
มาตรฐานที่  8     ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน
มาตรฐานที่  9     ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์
มาตรฐานที่  10   ร่วมมือกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ในชุมชน
มาตรฐานที่  11   แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
มาตรฐานที่  12   สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกสถานการณ์   (ออกใหม่)
แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 (คุรุสภา)
จรรยาบรรณข้อที่  1    ครูต้องรักและเมตตาศิษย์โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์ โดยเสมอหน้า
จรรยาบรรณข้อที่  2     ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้อง ดีงาม ให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความ-สามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
จรรยาบรรณข้อที่  3     ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และใจ
จรรยาบรรณข้อที่  4     ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกายสติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์
จรรยาบรรณข้อที่  5     ครูต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ให้ศิษย์กระทำ-การใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
จรรยาบรรณข้อที่  6     ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ
สังคมและการเมืองอยู่เสมอ
จรรยาบรรณข้อที่  7     ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพครู
จรรยาบรรณข้อที่  8     ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
จรรยาบรรณข้อที่  9     ครูพึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
มาตรฐานวิทยฐานะครู (สปศ.)
  1. ครูปฏิบัติการ ต้องจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยวิธีที่หลากหลาย แต่ยังต้องอาศัยคำแนะนำเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติ
  2. ครูชำนาญการ ต้องมีการศึกษาวิจัยพัฒนาหลักสูตรโดยวิทยาการใหม่ ๆ วิเคราะห์ผู้เรียนอย่างเป็นระบบ พัฒนาตนองค์กร และ ทำงานเป็นทีม
  3. ครูเชี่ยวชาญ ต้องคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ  มาพัฒนา พร้อมทั้งสามารถเผยแพร่ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่เพื่อนครู
ได้ พัฒนานักเรียนให้เกิดผลโดยตรงต่อครอบครัว ทำงานเป็นทีมอย่างต่อเนื่อง
4.  ครูเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นผู้นำและสร้างผู้นำในการคิดนวัตกรรมมาพัฒนาหลักสูตร   กระบวนการเรียนการสอน สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปใช้อ้างอิงได้ เป็นผู้นำในการแก้ปัญหา และวางระบบป้องกันปัญหา
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (สปศ.)
1.   คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ครูประจำการ)
1.1      มีวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษา หรือ สาขาอื่นที่ ก.ค. รับรอง
1.2      มีประสบการณ์การสอนไม่น้อยกว่า 2 ปี
หากครูท่านใดมีคุณสมบัติไม่ครบตามข้อ 1.1 , 1.2    ต้องพัฒนาตนเองภายใน5 ปี    (นับจากมีการตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา)         ให้ได้ปริญญาตรีทางการศึกษา หรือ สาขาอื่นที่ ก.ค. รับรอง  หรือ ผ่านการประเมินประสบการณ์ หรือ ผลงานเทียบเคียงปริญญาตรี
2.    แนวทางการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ครูประจำการที่ปฏิบัติงานสอนก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้   และ มีความประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู    ให้ยื่นเรื่องพร้อมหลักฐานเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู   ดังนี้
2.1    เอกสารแสดงวุฒิการศึกษา
2.2    หลักฐานที่สถานศึกษารับรองประสบการณ์การสอนของครู
2.3    ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน (ในกรณีที่ต้องมี)
2.4    วุฒิบัตรการฝึกอบรมที่สภาครูและบุคลากรทางการศึกษารับรอง
2.5    หลักฐานอื่น ๆ กรณีที่ใช้ประกอบการขอเทียบประสบการณ์และผลงาน (สำหรับผู้ไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี)
ทั้งนี้ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือ ผู้บังคับบัญชาที่สังกัด ตรวจสอบคุณสมบัติและหลักฐาน แล้วรวบรวมเสนอต่อสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไป
  1. 3. แนวทางการพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
3.1      เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่สภาครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด
3.2      เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการพัฒนาหรือผลการพัฒนาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด
3.3      เป็นผู้ที่ประพฤติตนไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ
3.4      เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรฐาน หรือ จรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างร้ายแรงและอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่ยังไม่มีข้อยุติ
  1. 4. แนวทางการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
4.1      เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
4.2      เป็นเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง
4.3      เป็นผู้ที่ไม่เข้ารับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือ ผลการพัฒนาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด และ ส่งผลเสียหายต่อการประกอบวิชาชีพครูอย่างร้ายแรง
4.4      เป็นผู้ที่ประพฤติตนผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างร้ายแรงจนมิอาจให้ปฏิบัติวิชาชีพอีกต่อไป
องค์ประกอบของวิชาชีพชั้นสูง
  1. เป็นงานที่ใช้ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และเป็นงานที่ใช้สติปัญญา
  2. มีจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นแบบแผนการปฏิบัติงาน
  3. มีองค์กรรับผิดชอบกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานและจรรยาบรรณ
  4. มีสถานภาพในสังคมสูง ได้รับการยกย่องนับถือ
เงื่อนไขของวิชาชีพ “ครู”
  1. ได้รับการศึกษาอบรมเป็นพิเศษ
  2. มีจรรยาบรรณครู
  3. มีมาตรฐานวิชาชีพครู
  4. มีมาตรฐานวิทยาฐาน
  5. มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
  6. มีองค์กรวิชาชีพกำกับ
  7. มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สปศ.)
สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา  เป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของสภาวิชาชีพ อยู่ในกำกับของกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ   ออกใบพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ คณะกรรมการสภาครุและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย กรรมการผู้แทนองค์กร  8  คน     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  7  คน    และ    กรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพ  12  คน   รวมคณะกรรมการทั้งสิ้น  27  คน
หลักประกันคุณภาพครู
  1. สถาบันผลิตครู ทำหน้าที่ผลิตครูใหม่ที่มีคุณภาพ และมีความรักในวิชาชีพ
  2. สถาบันพัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์ ทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นครูประจำการ
  3. องค์กรบริหารงานบุคคล ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่  และสถานศึกษา
  4. องค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำหน้าที่รักษามาตรฐาน-วิชาชีพและจรรยาบรรณครู
บทบาทของครูในการปฏิรูปการสอนและการเรียนรู้
  1. ศึกษามาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร
  2. ศึกษากระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  3. เขียนแผนการสอน
  4. ทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการสอน
  5. บันทึกและเก็บหลักฐานเกี่ยวกับการสอนไว้ในแฟ้มสะสมงานครู
การปฏิรูปการสอนของครู
  1. ศึกษามาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร
  2. กำหนดเป้าหมาย  วางแผนการสอน
  3. นำกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนมาใช้
  4. ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
  5. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และสื่อการเรียน
  6. ดำเนินการสอน  ดูแลกระบวนการเรียนรู้  กระตุ้นให้ปฏิบัติ  ให้คำแนะนำ
  7. เสริมความรู้ให้ผู้เรียนและส่งเสริมการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
  8. ประเมินผลการสอน
  9. วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน
  10. บันทึกสรุปผลการสอน
ครูในอนาคต
  1. ต้องสอน
  2. ต้องมีแผนการสอน
  3. ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
  4. ต้องมีผลงานในวิชาชีพพร้อมรับการประเมินคุณภาพ
ครูยุคปฏิรูปการศึกษา
  1. มีความรู้เนื้อหาสาระที่เหมาะสม ทันสมัย
  2. มีทักษะการถ่ายทอดความรู้
  3. มีทักษะมนุษย์
  4. มีวิญญาณครู   รักความเป็นครู
  5. มีเมตตาต่อศิษย์
  6. มีความสนใจสื่อและเทคโนโลยี
  7. มีความสนใจพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
การเตรียมตัวของครูในอนาคต
  1. ปฏิบัติตนตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูและจรรยาบรรณครู (ต้องประเมินตนเองอยู่เสมอและประเมินอย่างเข้มงวด)
  2. การพัฒนาการเรียนการสอน (ต้องทำแผนการสอน)
  3. การเก็บรวบรวมหลักฐานการปฏิบัติงานให้เป็นระบบ(ต้องจัดทำแฟ้มสะสมงานครู)
การประเมินตนเองของครู
  1. ประเมินตามมาตรฐานวิชาชีพครู ( 12 มาตรฐาน)
  2. ประเมินตามจรรยาบรรณครู ( 9 ข้อ)
  3. ประเมินตามมาตรฐานวิทยฐานะครู ( 4 ระดับคุณภาพ)
บทบาทของครูในการประกันคุณภาพการศึกษา
  1. ปฏิรูปการสอน
  2. ปฏิรูปการเรียนรู้
  3. ปฏิรูปการบริหารงาน
  4. ประเมินตนเอง
  5. ประกันคุณภาพภายใน
  6. ประกันคุณภาพภายนอก



สมัครติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา 4 ภาค 29 จุด ปี 2557-2558 ได้ที่

"ติวสอบดอทคอม"  www.tuewsob.com  หรือ คลิ๊กที่ภาพด้านล่างครับ

 ติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา
สร้าง-เขียน-บรรยาย โดย (ผอ.นิกร เพ็งลี)
เน็ตช้า เข้าที่ http://tuewsob.blogspot.com/
เน็ตแรง เข้าที่ http://www.tuewsob.com/

"ติวสอบดอทคอม" เว็บฟรี..ข้อสอบออนไลน์ สอบราชการ-ครู-ผู้บริหาร ฯ

ติวสอบดอทคอม www.tuewsob.com โดย ผอ.นิกร เพ็งลี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ติวสอบดอทคอม

ติวสอบดอทคอม
ติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา

ติวสอบ บน ยูทูป

ติวสอบ บน ยูทูป
ติวสอบ บน ยูทูป

ติวสอบ ฟรี บน ยูทูป

ติวสอบดอทคอม (เว็บติวสอบครู ผู้บริหาร บุคลากร การศึกษา)

ติวสอบดอทคอม (เว็บฟรี..ข้อสอบออนไลน์ เตรียมสอบครู ผู้บริหาร บุคลากรการศึกษาwww.tuewsob.com

กลับหน้าหลัก ติวสอบดอทคอม

กลับหน้าหลัก ติวสอบดอทคอม
ติวสอบดอทคอม